สภาเภสัชกรรมประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ การพิจารณากำหนดและรับรองหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม เพื่อส่งเสริมการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ (เพิ่มเติม ฉบับที่ 2)
ชื่อกิจกรรม กิจกรรมปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลสนามและปฏิบัติหน้าที่ในร้านขายยาตามโครงการของสภาเภสัชกรรมเพื่อการบริบาลเภสัชกรรมในผู้ป่วยโรคโควิด-19 และผู้บริโภคในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)
ลักษณะกิจกรรม กิจกรรมปฏิบัติหน้าที่เพื่อการบริบาลเภสัชกรรมในผู้ป่วยโรคโควิด-19 และผู้บริโภคในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ที่สามารถขอรับหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องแบ่งเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
1. ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลสนาม หมายความถึง การปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า ส่วนงานราชการ ออกไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลสนามที่มิใช่การปฏิบัติเป็นงานประจำ และเภสัชกรอาสา ในโรงพยาบาลสนามต่าง ๆ เพื่อการบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยโรคโควิด-19
2. ปฏิบัติหน้าที่ในร้านขายยาตามโครงการของสภาเภสัชกรรม หมายความถึง การปฏิบัติหน้าที่ในร้านขายยาตามโครงการที่สภาเภสัชกรรมดำเนินการร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือหน่วยงานอื่นที่นายกสภาเภสัชกรรมกำหนด เพื่อการบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยโรคโควิด-19 และผู้บริโภคในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)
3. การปฏิบัติหน้าที่นอกเหนือจากงานประจำของหน่วยงานต้นสังกัด เช่น การตรวจหาระดับยาในเลือดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการสภาเภสัชกรรมกำหนด
รูปแบบกิจกรรม เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรม ดังนี้ การปฏิบัติงานให้บริการในโรงพยาบาลสนาม ได้แก่ - การบริหารจัดการยา ยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์และเวชภัณฑ์ - การซักประวัติการใช้ยาผู้ป่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารยา - การคัดกรองใบสั่งยา - การตรวจสอบยาที่จ่าย - การให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ยา และการประสานงานกับบุคลากรการแพทย์เพื่อดูแลการใช้ยาการปฏิบัติงานตามโครงการของสภาเภสัชกรรม ได้แก่ - การคัดกรองผู้ป่วยในระบบ Home Isolation - การให้บริการเภสัชกรรมทางไกล - การให้บริการฉีดวัคซีนในร้านยา - การบริการชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) - การให้คำปรึกษาด้านยาและเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามที่สภาเภสัชกรรมประกาศกำหนด - การปฏิบัติหน้าที่นอกเหนือจากงานประจำของหน่วยงานต้นสังกัด ได้แก่ การตรวจหาระดับยาในเลือดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการสภาเภสัชกรรมกำหนด
เงื่อนไขการรับรอง 1. การคิดหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง ปฏิบัติงาน 3 ชั่วโมง ได้หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ 1 หน่วยกิต เศษของเวลาที่ไม่ครบ 3 ชั่วโมง ให้ปัดทิ้ง หรือนำไปรวมกับการทำงานในคราวต่อไปโดยต้องบันทึกผลรวมชั่วโมงในเอกสารเดียวกัน โดยหน่วยกิตรวมของกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการระบาดของโรคโควิด-19 สูงสุดไม่เกิน10 หน่วยกิต ต่อปี
2. การแสดงหลักฐานต่อสภาเภสัชกรรม แสดงแบบฟอร์มการรับรองหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการระบาดของโรคโควิด-19 ที่สภาเภสัชกรรมกำหนด (สภ.76) โดยต้องกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนสมบูรณ์ มีการลงนามของหัวหน้าส่วนงานผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรม ได้แก่ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ และนายกสมาคมวิชาชีพ ให้การรับรองการปฏิบัติงานในแบบฟอร์มการรับรองหน่วยกิตดังกล่าว และให้ใช้ 1 แบบฟอร์ม ต่อ 1 หน่วยงาน กรณีเป็นร้านยา ให้ลงนามรับรองตนเอง โดยสภาเภสัชกรรมจะตรวจสอบจากรายชื่อร้านยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในโครงการ
3. การแสดงหลักฐานต่อหัวหน้าส่วนงานผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมเพื่อลงนาม ให้แสดงตารางการปฏิบัติงานที่กำหนดโดยหน่วยงานจัดกิจกรรม
4. การนำข้อมูลเข้าสู่ระบบการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ สามารถดำเนินการด้วยตนเองทางระบบออนไลน์ที่สภาเภสัชกรรมกำหนด โดยสามารถนำข้อมูลเข้าสู่ระบบได้ปีละ 1 ครั้ง พร้อมแนบแบบฟอร์ม (สภ.76) ในรูปแบบไฟล์ .PDF (ไม่เกิน 3 ไฟล์ ต่อปี) เพื่อให้ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์พิจารณาตรวจสอบเพื่อการรับรองหน่วยกิต หากพบว่าไม่เป็นไปตามที่กำหนด ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์สามารถยกเลิกการรับรองหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องดังกล่าวได้ โดยการตัดสินของศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ ถือเป็นที่สิ้นสุด
ระยะเวลาการรับรอง นับการทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าคณะกรรมการสภาเภสัชกรรมจะมีมติยกเลิกประกาศฉบับนี้
โปรดศึกษารายละเอียดและเอกสารขั้นตอนการขอรับรองหน่วยกิต ตามเอกสารแนบท้ายนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่โทรศัพท์ 02 591 9992-5 กด 4
|