ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ก.ย. 5 พ.ย. และ 5 ธ.ค. 2567
การประชุมวิชาการ
ประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “Tele-pharmacy: Present Status and Future Perspectives”
ชื่อการประชุม ประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “Tele-pharmacy: Present Status and Future Perspectives”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รหัสกิจกรรม 1004-2-000-007-01-2567
สถานที่จัดการประชุม ห้องคิงส์ตัน ชั้น 5 เฟส 3 โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่
วันที่จัดการประชุม 28 ม.ค. 2567
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรในจังหวัดสงขลา และเภสัชกรที่สนใจ 80 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 4 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
เภสัชกรเป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (Severe acute respiratory syndrome coronavirus 2; SARS-CoV-2) ทำให้เกิดโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019; COVID-19) ทำให้มีการกำหนดมาตรการล๊อคดาวน์เมือง จำกัดการคมนาคมขนส่งหรือเดินทางเข้ามาในประเทศ มีการปิดสถานที่ที่คนสามารถรวมตัวหรือมีผู้คนพลุกพล่าน ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเข้ารับบริการจากเภสัชกรได้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยยังคงได้รับบริการที่เหมาะสมในยุคปกติวิถีใหม่ (New normal) ดังนั้น การให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (Tele-pharmacy) จึงมีบทบาทสำคัญ
การบริการเภสัชกรรมทางไกล (Tele-pharmacy) คือ การบริบาลทางเภสัชกรรมและการบริการที่เกี่ยวเนื่องแก่ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการ รวมทั้งการส่งมอบเภสัชภัณฑ์โดยผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกลไปยังผู้ป่วย ที่อยู่ในสถานที่ที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยจะได้รับยาและการดูแลรักษาทางเภสัชกรรม ภายในสถานที่ที่ปลอดภัยและสะดวกต่อการเข้าถึง ซึ่งครอบคลุมไปถึง การให้คำปรึกษาด้านยา (patient counseling) การจำหน่ายยา (drug selling) การส่งมอบยา (dispensing) และการติดตามการรักษาและผลข้างเคียง (drug therapy monitoring) โดยเป้าหมายของเภสัชกรรมทางไกลมีดังนี้
1) เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล ลดความเหลื่อมล้ำ และลดการรอคอยในการเข้าถึงบริการ สนับสนุนการพัฒนาหน่วยบริการก้าวหน้าโดยขยายการบริการด้านเภสัชกรรมให้ครอบคลุมทางการบริการเภสัชกรรมทางไกล (Tele-pharmacy) และ e-pharmacy/ e-platform
2) ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายโดยอ้อม และสนับสนุนการดูแลสุขภาพ
แบบองค์รวมอย่างเป็นระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย
3) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและกำลังคนในระบบสาธารณสุขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
ด้านการบริการ
4) ผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขในการใช้ประโยชน์เพื่อรองรับการแพทย์วิถีใหม่ (ดิจิทัล)
5) สนับสนุนมาตรการ social distancing (end-to-end) เพื่อควบคุมการระบาดของโรค มุ่งพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อเพิ่มศักยภาพความมั่นคงทางสุขภาพในการจัดการกับโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการเภสัชกรรมทางไกลได้มากขึ้น และเพื่อให้เภสัชกรมีความรู้ความเข้าใจและสามารถให้บริการเภสัชกรรมทางไกลได้ตามมาตรฐานของสภาเภสัชกรรม ดังนั้น คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และเครือข่ายเภสัชกรอาสาพาเลิกบุหรี่และสร้างเสริมสุขภาพภายใต้มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “Tele-pharmacy: Present Status and Future Perspectives” ครั้งนี้ขึ้น
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เภสัชกร มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบริการเภสัชกรรมทางไกล
2. เภสัชกรที่ให้บริการเภสัชกรรมทางไกล สามารถเลือกใช้แพลตฟอร์มที่สามารถป้องกันและรักษาความลับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้รับบริการ ที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
พ.ศ. 2562 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
3. เพื่อให้เภสัชกรสามารถให้บริการเภสัชกรรมทางไกลได้
คำสำคัญ
Tele-pharmacy, Future, เทเลฟาร์มาซี