หลักการและเหตุผล
เป็นที่ทราบและยอมรับกันดีว่าการสร้างผลงานวิชาการ เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าของวิชาชีพ องค์กร และตัวบุคลากร ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้กระตุ้นและส่งเสริมให้บุคลากรได้สร้าง และนำเสนอผลงานวิชาการอย่างสม่ำเสมอ ในด้านความก้าวหน้าของตัวบุคลากรสาธารณสุขแต่ละราย มีการกำหนดให้บุคลากรสามารถขอรับการประเมินเพื่อเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการในระดับ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ และเชี่ยวชาญ โดยผู้ขอรับการประเมินต้องมีการทำ และเขียนผลงานวิชาการในลักษณะงานวิจัย ที่สัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับงานวิชาชีพของตนเพื่อประกอบการพิจารณา แม้ว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่างๆ จะได้ผ่านการเรียนและฝึกทักษะระเบียบวิธีวิจัยมาบ้าง แต่บุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่งจะมีความรู้และประสบการณ์การวิจัยไม่มากพอ ทำให้ขาดความมั่นใจ และไม่พร้อมสำหรับการพัฒนาผลงานวิชาการด้วยตนเอง
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงเห็นควรจัดโครงการ “การพัฒนาผลงานวิชาการจากงานประจำเพื่อขอกำหนดตำแหน่งชำนาญและชำนาญการพิเศษ” ซึ่งแบ่งเป็นสองภาค ได้แก่ 1) ภาคบรรยาย ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะได้ทราบหลักเกณฑ์การขอกำหนดตำแหน่ง ตัวอย่างการทำผลงานเพื่อขอกำหนดตำแหน่งที่หลากหลาย หลักการวิเคราะห์ปัญหาเพื่อกำหนดหัวข้อศึกษา รูปแบบและระเบียบวิธีวิจัยต่างๆ หลักและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติสำหรับการวิจัย แนวทางการเขียนโครงร่าง และการขอจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ หลักการเขียนรายงานและการนำเสนอผลงาน 2) ภาคปฏิบัติการ (ระยะเวลาปฏิบัติรวมประมาณ 6 เดือน) ซึ่งผู้เข้าอบรมภาคปฏิบัติการทุกท่านจะได้ลงมือทำการวิจัยด้วยตนเอง โดยเริ่มตั้งแต่ปฏิบัติการวิเคราะห์ปัญหา การกำหนดหัวข้อศึกษา การเลือกรูปแบบวิธีวิจัย การเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมาะสมสอดคล้อง การสรุปและอภิปรายผล โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลและให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทีมอาจารย์และผู้ร่วมอบรมท่านอื่นอย่างสม่ำเสมอ เมื่อผ่านการอบรมทั้งภาคบรรยายและปฏิบัติการ ผู้เข้าอบรมจะมีความพร้อมสำหรับการพัฒนาผลงานวิจัยให้สมบูรณ์ เพื่อขอรับการประเมินผลงานเพื่อขอกำหนดตำแหน่งของตนเองตามขั้นตอนต่อไป