การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์สำหรับเภสัชกร ประจำปีงบประมาณ 2566 เรื่อง “SOLUBILITY ENHANCEMENT FOR ORAL SOLID DOSAGE FORM PRODUCT DEVELOPMENT III: SOLUBILITY IMPROVEMENT APPROACHES”
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์สำหรับเภสัชกร ประจำปีงบประมาณ 2566 เรื่อง “SOLUBILITY ENHANCEMENT FOR ORAL SOLID DOSAGE FORM PRODUCT DEVELOPMENT III: SOLUBILITY IMPROVEMENT APPROACHES”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-024-06-2566
สถานที่จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่จัดการประชุม 15 มิ.ย. 2566
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรภาคอุตสาหกรรม ,นักวิทยาศาตร์
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 4.75 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ต่อเนื่องจากความเดิมในปี 2560 และ 2561 คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรมได้จัดโครงการอบรมเรื่อง SOLUBILITY ENHANCEMENT FOR ORAL SOLID DOSAGE FORM PRODUCT DEVELOPMENT ตอนที่ 1 และ 2 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคนิคพื้นฐานเพื่อวัตถุประสงค์ของการเพิ่มการละลายของตัวยาสำคัญโดยเฉพาะตัวยาสำคัญที่จัดอยู่ใน Biopharmaceutical Classification System (BCS) กลุ่มที่ II และ IV โดยมุ่งเน้นที่เทคนิคการใช้สารประกอบเชิงซ้อนหรือการใช้สารลดแรงตึงผิวรวมถึงความสำคัญเชิงเคมีของแข็งของตัวยาสำคัญที่มีต่อสมบัติการละลายซึ่งถือเป็นการสร้างความเข้าใจพื้นฐานเบื้องต้นในการพัฒนาเภสัชภัณฑ์ การอบรมทั้งสองครั้งที่ผ่านมามีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมจำนวนมาก จึงมีแผนการดำเนินการจัดให้มีการอบรมส่วนสุดท้ายในปี 2562 หากด้วยเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จึงไม่สามารถจัดการประชุมได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความต่อเนื่องของการเผยแพร่องค์ความรู้สู่สังคม ทางภาควิชาฯ จึงดำเนินการจัดการให้มีการอบรมภายใต้ขอบเขตของการเพิ่มการละลายเช่นเดียวกับการอบรมทั้งสองครั้งหากแต่มุ่งเน้นไปที่เทคนิคทางเภสัชกรรมที่สามารถประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาตำรับของตัวยาเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสมซึ่งถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญตอนสุดท้ายของการพัฒนารูปแบบเภสัชภัณฑ์
เทคนิคการเพิ่มการละลายด้วยการก่อสารประกอบเชิงซ้อนและ/หรือการใช้สารลดแรงตึงผิวนั้นไม่ใช่เป็นเพียงวิธีเดียวที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มการละลายของตัวยาสำคัญที่มีค่าการละลายน้ำต่ำใด้ในทางอุตสาหกรรม หากยังคงมีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางโดยการใช้มุมมองเชิงโครงสร้างสภาวะของแข็งของตัวยาสำคัญที่มีผลต่อความสามารถในการละลายของตัวยาสำคัญเหล่านั้น ซึ่งทั้งสองหัวข้อดังกล่าวจัดเป็นเครื่องมือที่ผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ในประเทศสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนายาสามัญและยาสามัญใหม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามการใช้เทคนิคเชิงกระบวนการรวมถึงเทคนิคทางเภสัชกรรมอื่น ๆ เช่น การใช้ของแข็งกระจายตัว การพ่นแห้ง การทำแห้งแบบเยือกแข็ง ก็มีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จึงเป็นที่มาของการจัดอบรมเรื่อง SOLUBILITY ENHANCEMENT FOR ORAL SOLID DOSAGE FORM PRODUCT DEVELOPMENT ในตอนที่ 3 ที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับมุมมองของเทคนิคทางเภสัชกรรมและกระบวนการที่มีผลต่อการเพิ่มการละลายของตัวยาสำคัญที่ปรากกในเภสัชภัณฑ์รูปแบบของแข็งให้กับเภสัชกรรวมถึงผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงานในด้านการพัฒนาสูตรตำรับยาสามัญใหม่ให้สามารถเตรียมเภสัชภัณฑ์ในรูปแบบของแข็งที่ให้โดยการรับประทานให้มีการละลายที่ดีและเหมาะสมเพื่อนำไปสู่ชีวสมมูล

วัตถุประสงค์
เพื่อให้เภสัชกรรวมถึงนักวิทยาศาตร์ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาสูตรตำรับยาได้เรียนรู้และนำหลักการทางเทคนิคทางเภสัชกรรมและกระบวนการที่เกี่ยวกับการเพิ่มความสามารถในการละลายของตัวยาสำคัญมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเภสัชภัณฑ์รูปแบบของแข็งที่ให้โดยการรับประทาน
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ผู้สนใจเข้าร่วมประชุมสามารถลงทะเบียนได้ที่หน่วยการศึกษาต่อเนื่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทรศัพท์ 02-218-8283 หรือ(https://www.ce.pharm.chula.ac.th/) โดยมีอัตราค่าลงทะเบียนดังนี้ · ค่าลงทะเบียนแบบเข้าร่วมประชุมในห้องประชุม ท่านละ 1,000 บาท · ค่าลงทะเบียนแบบเข้าร่วมประชุมปฏิบัติการ ท่านละ 2,000 บาท