การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมวิชาการ เรื่อง Basic Clinical Research Management 2023
ชื่อการประชุม โครงการประชุมวิชาการ เรื่อง Basic Clinical Research Management 2023
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-007-03-2566
สถานที่จัดการประชุม ผ่านระบบออนไลน์ Zoom webinar และ onsite ณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่จัดการประชุม 18 มี.ค. 2566 - 01 เม.ย. 2566
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 16 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การวิจัยทางคลินิก ถือเป็นกระบวนการหนึ่งที่มีความสำคัญในระบบนิเวศของการวิจัยและพัฒนายา และเพื่อให้การวิจัยดำเนินไปด้วยความราบรื่น จึงต้องมีผู้ประสานงานวิจัยทางคลินิก เพื่อรับหน้าที่ควบคุมดูแล ตรวจสอบ และติดต่อประสานงานการวิจัยทางคลินิก ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามมาตรฐานสากล
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแถมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความพร้อมในการทำการศึกษาทางคลินิกเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีโรงเรียนแพทย์ที่มีชื่อเสียง แพทย์ผู้ทำหน้าที่นักวิจัยหลักมีประสบการณ์ในการทำการศึกษาทางคลินิกที่ได้มาตรฐานตามการปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ดี (Good Clinical Practice (GCP)) ของ International Conference on Harmonization (ICH) หรือ ICH GCP มีความพร้อมทั้งในด้านสถานที่ มีประชากรกลุ่มเป้าหมายที่รองรับการศึกษาในโรคต่าง ๆ และมีต้นทุนต่ำกว่าประเทศอื่น ในปีพ.ศ. 2558 พบว่าประเทศไทยมีการศึกษาทางคลินิกมากถึง 761 การศึกษา โดยมีการศึกษาในระยะที่ 3 เป็นสัดส่วนสูงที่สุดถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของการศึกษาทั้งหมด และในปีเดียวกันนี้ยังพบว่าการศึกษาทางคลินิกในประเทศไทยสามารถนำรายได้เข้าประเทศถึง 8.8 พันล้านบาท คิดเป็น 0.05 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ในปัจจุบันพบว่าการดำเนินการศึกษาทางคลินิกที่ทำในประเทศไทยส่วนใหญ่นั้นเป็นการดำเนินงานรับจ้างทำวิจัยให้กับบริษัทยาผ่านบริษัทรับจ้างวิจัยทางคลินิก (Contract Research Organizations (CROs)) โดยพบว่าในประเทศไทยมีบริษัทและหน่วยงานที่รับทำวิจัยทางด้านคลินิกหลายแห่ง โดยหากเป็นบริษัทขนาดกลางถึงใหญ่จะเป็นบริษัทจากต่างประเทศที่เข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย ในขณะที่ประเทศไทยเองก็เริ่มมีการจัดตั้งหน่วยงานตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่หลายแห่งทั้งในเอกชนเต็มรูปแบบ เอกชนแบบไม่หวังผลกำไร (Social enterprise) หรือเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้โรงเรียนแพทย์ หรือมหาวิทยาลัยที่ให้บริการทำวิจัยทางด้านคลินิกแก่นักวิจัยหรือผู้ประกอบการ
การเติบโตอย่างรวดเร็วของงานวิจัยทางคลินิกในประเทศไทย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการวิจัยและพัฒนายา และหนึ่งในบทบาทที่สำคัญที่จะทำให้การวิจัยราบรื่นคือผู้ประสานงานวิจัยทางคลินิก ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการประสานงานกับทีมวิจัยทั้งหมด อาสาสมัคร ผู้ให้ทุน คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยและหน่วยงานกำกับดูแลการวิจัย รวมถึงต้องมีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมเอกสารโครงร่างการวิจัย และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยทั้งหมด จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของงานวิจัยทางคลินิก ทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสุขภาพที่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานวิจัย จำนวนบุคลากรในปัจจุบันสามารถรองรับงานได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ในขณะเดียวกันพบว่ามีบุคลากรจำนวนหนึ่งมีความต้องการเปลี่ยนสายงานมาทางด้านนี้ แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจขั้นพื้นฐานของการวิจัยทางคลินิก รวมถึงขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ประสานงานวิจัยทางคลินิก เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
ในการนี้ ภาควิชาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร คณะเภสัชศาสตร์ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรเพื่อการวิจัยทางคลินิก จึงได้นำเสนอการจัดอบรมวิชาการ ในรูปแบบบรรยายและการอบรมเชิงปฏิบัติการ ทั้งนี้เนื้อหาจะครอบคลุมความรู้พื้นฐาน และความรู้แนวลึก ร่วมทั้งการลงมือปฏิบัติ โดยมีคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผู้แทนจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย ผู้แทนจากสถานพยาบาล และบริษัทยา เข้าร่วมเป็นวิทยากรการบรรยาย และการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
วัตถุประสงค์
1.อธิบายความสำคัญและกระบวนการวิจัยทางคลินิกขั้นพื้นฐาน (Basic Clinical Research)
2.อธิบายขอบเขตและความสำคัญของการกำกับดูแลการวิจัย (Regulatory in clinical research)
3.อธิบายขอบเขตและความสำคัญของจริยธรรมการวิจัย (Ethics in clinical research)
4.อธิบายขอบเขตและความรับผิดชอบขององค์กรผู้รับวิจัยทางคลินิก (Contract Research Organization)
5.อธิบายหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ประสานงานวิจัยทางคลินิก (Clinical Research Associate)
6.อธิบายความสำคัญในการปฏิบัติตาม ICH-GCP
7.อธิบายผู้มีส่วนร่วม (stake holder) กระบวนการการบริหารจัดในการวิจัยทางคลินิก
8.อธิบายเอกสารสำคัญในกระบวนการวิจัยทางคลินิก
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ผู้สนใจเข้าร่วมประชุมสามารถเลือกลงทะเบียนตามช่วงเวลาและเนื้อหาที่สนใจ ได้ที่เว็บไซต์ของหน่วยการศึกษาต่อเนื่อง ฝ่ายวิชาการ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (www.ce.pharm.chula.ac.th) โทรศัพท์ 02-218-8283 หรือ E-mail: CE@pharm.chula.ac.th โดยมีอัตราค่าลงทะเบียนดังนี้ 1.ลงทะเบียนแบบรวมบรรยายและเชิงปฏิบัติการ (รวม 3 วัน) ท่านละ 5,500 บาท 2.ลงทะเบียนเฉพาะภาคบรรยาย (18 มี.ค.) ท่านละ 1,500 บาท 3.ลงทะเบียนเฉพาะภาคบรรยาย (25 มี.ค.) ท่านละ 1,500 บาท 4.ลงทะเบียนภาคบรรยาย สำหรับนิสิตปริญญาตรี ต่างมหาวิทยาลัย (18 มี.ค.) ท่านละ 500 บาท 5.ลงทะเบียนภาคบรรยาย สำหรับนิสิตปริญญาตรี ต่างมหาวิทยาลัย (25 มี.ค.) ท่านละ 500 บาท 6.ลงทะเบียนเฉพาะเชิงปฏิบัติการ (1 เม.ย.) ท่านละ 2,500 บาท