บทความวิชาการ
ระดับซิสเตตินซีและการประยุกต์ใช้ในการปรับขนาดยาต้านจุลชีพ
ชื่อบทความ ระดับซิสเตตินซีและการประยุกต์ใช้ในการปรับขนาดยาต้านจุลชีพ
ผู้เขียนบทความ ภก.วรพงษ์ สังสะนะ , ผศ.ภญ.โชติรัตน์ นครานุรักษ์
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-1-000-004-06-2566
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 26 มิ.ย. 2566
วันที่หมดอายุ 25 มิ.ย. 2567
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
“ไต” ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ซึ่งมีหลากหลายหน้าที่ คือ การขับสารต่างๆ ออกจากร่างกาย ควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ ควบคุมระดับความดันโลหิต การสร้างสาร erythropoietin ที่สามารถกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด ควบคุมสมดุลกรด-ด่าง และควบคุมสมดุลการสร้างกระดูกและแร่ธาตุหลากหลายชนิด โดยการกรองสารหรือน้ำผ่านโกลเมอรูลัส ถือเป็นหนึ่งในหลายหน้าที่ของไต ซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงระดับการทำงานของไตในแต่ละคน อัตราการกรองของโกลเมอรูลัส (Glomerular filtration rate, GFR) ใช้ในการวินิจฉัยและแบ่งระดับความรุนแรงของภาวะไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney disease, CKD) รวมถึงช่วยทำนายการดำเนินไปของโรคซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิต ในปัจจุบันได้มีการนำค่า GFR มาใช้ทำนายความสามารถของไตในการขจัดยาเพื่อให้สามารถปรับขนาดยาได้อย่างเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ความสามารถในการกรองของโกลเมอรูลัส เป็นหนึ่งในหลายหน้าที่ของไต ซึ่งประเมินถึงความสามารถในการทำงานของไต โดยประชากรทั่วไปจะพบค่า GFR อยู่ระหว่าง 100 และ 125 mL/min ต่อ 1.73 m อย่างไรก็ตามในประชากรแต่ละกลุ่มอาจพบความหลากหลายของค่าดังกล่าว เช่น ผู้ที่มีความผิดปกติของการไหลเวียนโลหิต ขนาดรูปร่างและสรีระร่างกาย การตั้งครรภ์ การออกกำลังกาย ชนิดหรือประเภทของอาหารที่รับประทาน และยาที่ผู้ป่วยรับประทาน รวมถึงมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงของวัน นอกจากนี้พบว่าค่า GFR มีความสัมพันธ์กับขนาดของไต ซึ่งเป็นไปตามสัดส่วนของร่างกาย จึงมีการนำขนาดพื้นที่ผิวของร่างกาย (body surface area, BSA) มาใช้ในการพิจารณาร่วมสำหรับการประเมินความสามารถในการทำงานของไต อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถวัดอัตราการกรองของไตได้โดยตรง จึงมีการนำสารภายนอกร่างกาย (exogenous substance) เช่น inulin, iothalamate, ethylenediaminetetraacetic acid และ iohexol มาประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นสารในอุดมคติที่สามารถเป็นตัวแทนของสารภายในร่างกาย โดยมีคุณสมบัติการขจัดออกทางไตผ่านการกรองเป็นหลัก ไม่จับกับโปรตีนในร่างกายและไม่ถูกขับออกหรือดูดกลับทางท่อไต โดยเริ่มแรกในปี ค.ศ. 1935 Homer Smith และคณะ ได้มีการนำสาร inulin มาใช้ในการประเมินค่า GFR ซึ่งสารดังกล่าวจัดเป็นสารในอุดมคติที่สามารถทำนายอัตราการกรองของไตได้อย่างแม่นยำ แต่เนื่องจากความยากในวิธีการตรวจวัดและประเมินผลจึงไม่เป็นที่นิยมในทางปฏิบัติ จึงมีการนำสารชนิดอื่นมาประยุกต์ใช้ ได้แก่ iothalamate และ iohexol ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการขจัดของสาร inulin แต่ยังคงมีข้อจำกัดโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยวิกฤต ผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่มีความปกติของทางเดินปัสสาวะ วิธีการประเมินค่า GFR ส่วนใหญ่ที่ใช้กันในทางปฏิบัตินั้นจะประเมินจากสารภายในร่างกาย (endogenous substances) คือ creatinine ซึ่งเป็นสารในร่างกายที่ถูกกรองได้อย่างอิสระทางโกลเมอรูลัส แต่สารดังกล่าวสามารถขับออกทางท่อไต และถูกทำลายผ่านทางเดินอาหารได้ รวมถึงสารดังกล่าวสร้างจากมวลกล้ามเนื้อ และสามารถได้รับจากสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ดังนั้นจึงมีหลายปัจจัยที่มีผลกระทบต่อระดับ creatinine ในร่างกายได้ โดยตามแนวทางการรักษา Kidney Disease: Improving Global Outcomes (KDIGO) ปี ค.ศ. 2012 ในผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายเรื้อรัง (chronic kidney disease, CKD) แนะนำให้ประเมินค่า estimated glomerular filtration, eGFR จากค่า creatinine ในการทำนายระดับการทำงานของไต เนื่องจากมีราคาถูกและสามารถตรวจวัดได้ง่าย จึงมีการใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน จากแนวทางการรักษาของ KDIGO ปี ค.ศ. 2012 แนะนำประเมินค่า eGFR จากค่า creatinine และ/หรือค่า cystatin C ในการทำนายความสามารถในการกรองของไต อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากตางรางที่ 1 จะเห็นได้ว่ามีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อค่า creatinine ในร่างกาย ทำให้ความแม่นยำในการประเมินระดับการทำงานของไตลดลงในประชากรบางกลุ่ม เช่น ผู้ที่มีความผิดปกติของมวลกล้ามเนื้อ ผู้ที่ได้รับสารอาหารโปรตีนปริมาณสูง หรือยาบางชนิด ปัจจุบันจึงมีการนำระดับ cystatin C ในเลือดมาใช้เป็นทางเลือก ซึ่งค่า cystatin C จัดเป็นสารภายในร่างกายที่สามารถบ่งชี้ถึงอัตราการกรองของโกลเมอรูลัสเช่นเดียวกับระดับ creatinine ซึ่งสามารถถูกกรองได้อย่างอิสระผ่านโกลเมอรูลัส แต่ยังสามารถถูกเปลี่ยนแปลงและดูดกลับได้ทางท่อไตเช่นกัน อย่างไรก็ตามมีปัจจัยบางอย่างที่อาจส่งผลกระทบต่อระดับ cystatin C ในเลือด ได้แก่ การสูบบุหรี่ การอักเสบในร่างกาย ความผิดปกติของไทรอยด์ และภาวะอ้วน เป็นต้น
คำสำคัญ