บทความวิชาการ
การดูแลแผลในช่องปากสำหรับเภสัชกรชุมชน
ชื่อบทความ การดูแลแผลในช่องปากสำหรับเภสัชกรชุมชน
ผู้เขียนบทความ ภก.จุมพล งามยิ่งสุรัติ ศูนย์ยา มฉก.
สถาบันหลัก สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)
รหัสกิจกรรม 2002-1-000-033-10-2565
ผู้ผลิตบทความ สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)
การเผยแพร่บทความ เฉพาะสมาชิกผู้ผลิตบทความ  
วันที่ได้รับการรับรอง 19 ต.ค. 2565
วันที่หมดอายุ 18 ต.ค. 2566
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
เยื่อบุภายในช่องปาก (oral mucosa) ถือเป็นด่านหน้าในการปกป้องเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในช่องปาก ด้วยโครงสร้างและการทำหน้าที่ต่าง ๆ ทำให้เซลล์เยื่อบุช่องปากมีอายุค่อนข้างสั้น (turnover time) เมื่อเปรียบเทียบกับเซลล์อื่น ๆ ในร่างกาย จึงต้องมีการแบ่งเซลล์เพื่อทดแทนเซลล์เดิมที่หมดอายุขัย หากร่างกายมีความผิดปกติบางอย่างเยื่อบุช่องปากอาจเป็นอวัยวะหรือเนื้อเยื่อส่วนแรก ๆ ในร่างกายที่แสดงความผิดปกติออกมาก่อนส่วนอื่น ๆ อาจกล่าวได้ว่าเนื้อเยื่อดังกล่าวเป็นเสมือนกระจกสะท้อนปัญหาสุขภาพของคนเราก็ว่าได้ ปัญหาแผลในช่องปาก (mouth ulcerations) เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้มารับบริการในร้านยาจะเข้ามาขอรับคำปรึกษาจากเภสัชกรชุมชน ซึ่งแผลในช่องปากมีด้วยกันหลายชนิด ตั้งแต่ชนิดที่ไม่รุนแรงและพบได้บ่อย เช่น แผลร้อนใน (aphthous ulcer) ไปจนถึงแผลในปากชนิดที่รุนแรงแต่พบได้ไม่บ่อย เช่น แผลมะเร็งในช่องปาก (oral carcinoma) หรือกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาการแพ้อย่างรุนแรงอย่าง Steven-Johnson Syndrome หรือ Erythema multiforme เภสัชกรชุมชนในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลรักษาบรรเทาอาการเจ็บปวดจากแผลในปากเบื้องต้น ตลอดจนการคัดกรองเพื่อส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยแยกโรคในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีโรคบางอย่างแอบแฝงอยู่ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป บทความนี้จึงถูกเรียบเรียงขึ้นเพื่อทบทวนและปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับปัญหาแผลในช่องปากที่พบได้บ่อย ซึ่งก็คือ แผลร้อนใน (aphthous ulcers) โดยจะกล่าวถึงลักษณะทางคลินิกและประเภทของแผล แนวทางการวินิจฉัยและการรักษาเบื้องต้น เพื่อให้เภสัชกรชุมชนสามารถให้การดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาแผลร้อนในได้อย่างเหมาะสม
คำสำคัญ
แผลในปาก เภสัชกรชุมชน แผลร้อนใน