ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ก.ย. 5 พ.ย. และ 5 ธ.ค. 2567
การประชุมวิชาการ
โครงการอบรมระยะสั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพเภสัชกรรม (สาขาการวิจัยทางคลินิกจากงานประจำทางเภสัชกรรมเพื่อความเป็นเลิศในการดูแลผู้ป่วย) รอบ 1 ปีงบประมาณ 2568
ชื่อการประชุม โครงการอบรมระยะสั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพเภสัชกรรม (สาขาการวิจัยทางคลินิกจากงานประจำทางเภสัชกรรมเพื่อความเป็นเลิศในการดูแลผู้ป่วย) รอบ 1 ปีงบประมาณ 2568
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
รหัสกิจกรรม 1006-2-000-039-11-2567
สถานที่จัดการประชุม ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
วันที่จัดการประชุม 04 พ.ย. 2567 - 28 ก.พ. 2568
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรโรงพยาบาล และเภสัชกรจากแหล่งอื่นๆ ที่สนใจ 4 คนต่อรอบ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 30 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care) เป็นหน้าที่รับผิดชอบของเภสัชกรที่มีโดยตรงต่อผู้ป่วยในการดูแลรักษาด้านยา เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยได้ทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยต้องอาศัยองค์ความรู้ในหลายๆ ด้าน ให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแก่ผู้ป่วย จากการที่เภสัชกรเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญในการใช้ยา เพื่อให้การปฏิบัติงานของเภสัชกรในการดูแลผู้ป่วยร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ เภสัชกรจึงต้องมีความรู้และทักษะการบริบาลทางเภสัชกรรม โดยมีพื้นฐานความรู้ด้านเภสัชบำบัด ประกอบกับข้อมูลที่ทันสมัยและเชื่อถือได้ อีกทั้งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ด้านการวิจัยที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถพัฒนางานบริบาลทางเภสัชกรรมซึ่งเป็นงานประจำของเภสัชกร ทำให้สามารถปฏิบัติงานการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Routine to Research” หรือ R2R คือ “การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย” ผลลัพธ์ของ R2R ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่ได้ผลงานวิจัยเท่านั้น แต่มีเป้าหมายที่จะนำผลงานวิจัย R2R ไปใช้พัฒนางานประจำนั้น ๆ ด้วย R2R จึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเภสัชกรที่ปฏิบัติงานด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม เพื่อพัฒนางานขับเคลื่อนองค์กร สู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) โดยสิ่งสำคัญของ R2R คือ
1. เป็นปัญหาที่พบจากการปฏิบัติงานด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม มาจากงานประจำที่ทำกันอยู่และต้องการพัฒนาให้ดีขึ้น
2. ผู้ดำเนินวิจัยเป็นผู้ทำงานประจำนั้นเอง และต้องทำหน้าที่หลักในการวิจัย
3. ผลลัพธ์ของงานวิจัยต้องสามารถวัดผลได้จากตัวผู้รับบริการ หรือผู้ป่วยโดยตรง เช่น การดูแลผู้ป่วย ผลการรักษาจะดีขึ้น ภาวะแทรกซ้อนหรือระยะเวลาในการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลลดลง เป็นต้น
4. ผลลัพธ์ของงานวิจัยต้องสามารถวัดผลได้จากตัวผู้ให้บริการคือเภสัชกร เช่น งานด้านการทำงานบริการ จะช่วยลดขั้นตอนการทำงาน การบริการดีขึ้น แก้ปัญหาภาระงานที่ทำอยู่ได้
5. สามารถนำผลการวิจัยไปใช้พัฒนางานบริบาลทางเภสัชกรรมให้ดีขึ้นในบริบทของแต่ละองค์กร (Routine to Research to Routine; R2R2R)
บทบาทหน้าที่ที่สำคัญของเภสัชกร คือ จะต้องให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยว่าจะได้รับยาที่ปลอดภัยและเหมาะสม ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตระหนักถึงความต้องการของเภสัชกรที่ปฏิบัติงานการบริบาลทางเภสัชกรรม ที่ต้องมีความรู้ด้านการวิจัยเพื่อใช้ในการพัฒนางานด้านการบริบาลเภสัชกรรม จึงจัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรบริบาลทางเภสัชกรรม (สาขาการวิจัยทางคลินิกจากงานประจำทางเภสัชกรรมเพื่อความเป็นเลิศในการดูแลผู้ป่วย) ซึ่งเป็นหลักสูตรภาคปฏิบัติ 16 สัปดาห์ โดยมีเนื้อหาทางทฤษฎีสอดแทรกในการฝึกปฏิบัติงาน ในการฝึกปฏิบัติงานบริบาลทางเภสัชกรรม เภสัชกรจะได้มีโอกาสปฏิบัติงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญในการบริบาลผู้ป่วย โดยมีคณาจารย์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเภสัชกรโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเน้นการใช้การบริบาลทางเภสัชกรรมในด้านต่างๆ เพื่อให้เภสัชกรผู้ฝึกปฏิบัติงานสามารถดำเนินงานวิจัยด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านผลลัพธ์ทางคลินิก (clinical outcomes) เศรษฐศาสตร์ด้านยา (pharmacoeconomics) ผลลัพธ์เชิงความเป็นมนุษย์ (humanistic outcomes) โดยสามารถวิเคราะห์ปัญหาการบริบาลทางเภสัชกรรมจากงานประจำ เพื่อกําหนดหัวข้อการศึกษา รูปแบบและระเบียบวิธีวิจัย วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล การใช้สถิติสําหรับการวิจัย แนวทางการเขียนโครงร่าง การขอจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ หลักการเขียนรายงานและการนําเสนอผลงาน โดยหวังให้เมื่อเภสัชกรได้อบรมจบแล้วสามารถดำเนินงานวิจัยและสามารถนำงานวิจัยไปใช้ปฏิบัติงานด้านบริบาลทางเภสัชกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม และมนุษยสัมพันธ์ที่ดี รวมทั้งเป็นผู้นำในด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม
วัตถุประสงค์
1. สามารถกำหนดปัญหาการวิจัยจากปัญหาด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม
2. สามารถออกแบบงานวิจัยที่เหมาะสมเพื่อตอบโจทย์ปัญหางานวิจัย
3. สามารถดำเนินงานวิจัยจากงานประจำที่ตนเองทำได้
4. สามารถประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยกับหน่วยงานได้
คำสำคัญ