หลักการและเหตุผล
สถานการณ์การติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance, AMR) ในประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตประมาณปีละ 38,000 ราย และสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจสูงถึงกว่าปีละ 40,000 ล้านบาท (คณะทำงานประสานและติดตามการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570, 2567) สถานการณ์ระดับนานาชาติมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2593 คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตถึง 10 ล้านคนต่อปี ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง (O’Neill, 2016; World Bank Group, 2017) สำหรับโครงการประชุมและเสวนาวิชาการนี้ จะใช้คำว่า ยาปฏิชีวนะ และยาต้านจุลชีพ ในความหมายที่ทดแทนกัน (ตามศัพท์นิยามที่เกี่ยวข้อง)
การพบการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น การใช้ในการเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูกพืช การตกค้างมากับผลิตภัณฑ์จากสัตว์ หรือ อาหาร และส่งต่อมายังมนุษย์ ส่งผลให้เกิดการดื้อยาปฎิขีวนะ หรือยาต้านจุลชีพ ซึ่งการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรียจำเป็นต้องใช้การบูรณาการในทุกๆ ด้าน และต้องใช้เวลาอันยาวนาน โดยมีแนวคิดว่า หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา คือ การทำความเข้าใจในประชาชนเพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น หรือการสร้างความรอบรู้ให้กับประชาชน (นนธวัช สวัสดิ์ล้น, 2563; Centers for Disease Control and Prevention [CDC], 2024; Fleming, 1945) รวมทั้ง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของบุคลากร หน่วยงาน หรือองค์กรที่สนใจด้านยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านจุลชีพ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีองค์ความรู้ที่ทันสมัย และเท่าทันต่อสถานการณ์
ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และหน่วยงาน หรือองค์กรทางด้านวิชาชีพเภสัชกรรมต่างๆ จัดประชุม และเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “Dancing with Bacteria” เพื่อเผยแพร่ และสร้างความตระหนักรู้ให้ทราบเกี่ยวกับยาฆ่าเชื้อและเชื้อดื้อยาทั้งภายในประเทศและนานาชาติ รวมทั้ง ระดมความคิดเห็นและอภิปราย บทบาท กิจกรรม และความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องยาฆ่าเชื้อและเชื้อดื้อยาในพื้นที่ต่างๆ ทุกภูมิภาคของประเทศไทยเพื่อพัฒนานโยบายระดับชาติ ร่วมกันหาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และอนาคตของประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวข้อง