หลักการและเหตุผล
ยุทธศาสตร์สุขภาพดิจิทัล กระทรวงสาธารณสุข (2564-2568) มีจุดมุ่งหมายในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงระบบการแพทย์ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน โดยการนำเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์และการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพเข้ามาใช้ ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ยังช่วยลดต้นทุนการรักษาและเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถติดตามสุขภาพของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในวงการแพทย์ไทยนี้ถูกคาดหวังว่าจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของการแพทย์ การปฏิบัติทางการแพทย์ และการดูแลสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ การวิเคราะห์สถานการณ์เทคโนโลยีดิจิทัลด้านสุขภาพของประเทศไทยพบว่า ในหลักสูตรการฝึกอบรมด้านสุขภาพดิจิทัลเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบันนั้นยังมีช่องว่าง (Gap) อยู่มาก เนื่องจากดัชนีสุขภาพดิจิทัล (DHI) ของหลักสูตรการฝึกอบรมเหล่านี้ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก การเร่งพัฒนาหลักสูตรสุขภาพดิจิทัลจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยจะต้องทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอย่างน้อย 25% ได้รับการฝึกอบรมด้านสุขภาพดิจิทัลภายในระยะ 5 ปี นอกจากนี้ การให้บริการเภสัชกรรมยังเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญของระบบสุขภาพ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก ซึ่งทำให้ภาระงานการให้บริการเภสัชกรรมมีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปรับปรุงบริการเภสัชกรรมจึงเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและลดภาระงานของบุคลากรด้านสุขภาพ กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์และเมตาโบโลมิกส์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะ Digital Health ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และได้จัดทำหลักสูตร AI and Digital Skills for Health Professionals to Improve Pharmacy Services ซึ่งเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรที่เน้นการสร้างสมรรถนะให้ผู้เรียนสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการแก้ปัญหาการให้บริการเภสัชกรรมได้จริง ผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาทั้งด้านความรู้และทักษะจากสถานการณ์จำลองและโจทย์ปัญหาจริงในการให้บริการเภสัชกรรม การเรียนการสอนออกแบบมาเพื่อให้เหมาะสมกับผู้เรียนวัยผู้ใหญ่ที่ต้องการเพิ่มพูนสมรรถนะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาการให้บริการสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
วัตถุประสงค์
1.เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาการให้บริการเภสัชกรรมด้วยวิธีปัญญาประดิษฐ์หรือวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลดิจิทัลที่สอดคล้องกับกระบวนการทำงานของหน่วยงานทางสุขภาพได้
2.เพื่อเป็นการ Reskill และ Upskill ผู้ที่ทำงานแล้วและต้องการเพิ่มพูนสมรรถนะหรือผู้ที่ทำงานแล้วและต้องการเพิ่มพูนสมรรถนะที่แตกต่างไปจากเดิม