หลักการและเหตุผล
ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยมีเป้าหมาย คือให้ประชาชนคนไทย เฉพาะผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง หรือบัตร 30 บาท) สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น เพียงแค่ใช้บัตรประชาชนใบเดียวก็จะสามารถรับบริการสาธารณสุขได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วม คลินิกเอกชน ร้านยา คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกการพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกทันตกรรมที่อยู่ใกล้บ้านและเข้าร่วมในระบบกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพได้ทั้งหมด โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ใน 4 จังหวัดนำร่อง เริ่ม 8 ม.ค.67ที่ผ่านมา คือ ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรี และนราธิวาส และขณะนี้ขยายไปยัง 8 จังหวัดเฟช 2 เริ่ม มี.ค.2567 ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี พังงา หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา และสระแก้ว ต่อจากนั้นจะขยายไปยัง เฟช 3 เริ่มเม.ย.2567 นี้ รักษาในเขตสุขภาพที่ 1 , 4 , 9 และ 12 หลังจากนั้นจะมีการขยายไปทั่วทุกเขตภายใน 1 ปี สำนักงานรับรองคุณภาพร้านยา สภาเภสัชกรรม เล็งเห็นประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในการบริการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย โดยเภสัชกรร้านยาคุณภาพ ที่ผ่านการอบรมโดยสภาเภสัชกรรม ผ่านระบบการยืนยันตัวตนของ สปสช.และจัดเก็บบันทึกข้อมูลผ่านระบบ AMED มีการติดตามอาการและการใช้ยาภายหลัง 72 ชั่วโมง ทำให้เกิดความพึงพอใจกับผู้รับบริการเป็นอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ทางสำนักงานรับรองคุณภาพร้านยา สภาเภสัชกรรม จึงสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้อำนวยความสะดวกแก่เภสัชกรร้านยาในการเข้ามามีส่วนร่วมในการ ทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการทั้งหมดในครั้งนี้อย่างชัดเจนและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามแนวทางปฏิบัติการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยในร้านยาโดยเภสัชกรชุมชน มีขั้นตอนที่ต้องผ่านการรับรองเป็นร้านยาคุณภาพ เพื่อเป็นการพัฒนา และเตรียมความพร้อมให้เภสัชกรที่สนใจการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยในร้านยา โดยเภสัชกรชุมชน ได้เข้าใจถึงขั้นตอนการสมัครตั้งแต่แรกเริ่ม และเมื่อพร้อมปฏิบัติงาน เภสัชกรชุมชนที่ผ่านการอบรม จะมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพกฎระเบียบข้อบังคับ ในส่วนของหลักวิธีการปฎิบัติทางเภสัชกรชุมชนหรือเรียกว่า Good Pharmacy Practice ซึ่งได้รับการประกาศเป็นกฎหมายภายใต้ กฎกระทรวงเรื่องการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พศ.2556 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติยา พศ.2510 โดยร้านยาทุกประเภทต้องผ่านการประเมิน GPP เพื่อให้สามารถต่ออายุใบอนุญาตได้ ซึ่งผู้ทำการประเมิน คือ เจ้าหน้าที่จาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของทุกจังหวัด และเป็นไปตามข้อตกลงในความร่วมมือระหว่างสภาเภสัชกรรมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
สำนักงานรับรองร้านยาคุณภาพ สภาเภสัชกรรม มีนโยบายให้การสนับสนุนการเพิ่มจำนวนร้านยาเข้าสู่บริการ Common illness โดยความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการคัดเลือกและรับรองการอยู่ปฏิบัติงานงานของเภสัชกรในพื้นที่ ที่ปฏิบัติการอยู่ที่ร้านตลอดเวลาเปิดบริการ เป็นการรับรองมาตรฐาน GPP ที่ชัดเจน และต่อยอดการสร้างงานคุณภาพ และไม่มีค่าใช้จ่ายในการส่งคำขอ ทั้งนี้เพื่อนำร้านที่ทาง สสจ รับรอง ไปสู่การเป็น “ ร้านยาคุณภาพแบบมีเงื่อนไข ” เป็นระยะเวลาการรับรอง 1 ปี ด้วย
วัตถุประสงค์
1. เกิดความร่วมมือระดับจังหวัด โดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กับ สำนักงานรับรองร้านยาคุณภาพ
2. เภสัชกรร้านยามีความเข้าใจในขั้นตอน กระบวนการทำงาน ของงานคุณภาพ เพื่อสมัครยื่นคำขอเป็นร้านยาคุณภาพ และสมัครเข้าร่วม ”โครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ” และการจัดการความเสี่ยงในร้านยา ทั้งยังสามารถใช้งานระบบ Acc-pharm ได้