หลักการและเหตุผล
โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้นต่อระบบสาธารณสุขของทั่วโลก ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่าในช่วงปี 2007-2030 จะมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 7.9 ล้านคนเป็น 11.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยใหม่โรคมะเร็งทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 11.3 ล้านคนเป็น 15.5 ล้านคนสำหรับประเทศไทยพบว่าในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 64,000 รายต่อปีและมีการเสียชีวิตปีละประมาณ 30,000 ราย ปัจจุบันพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับแรกสูงกว่าโรคหัวใจและอุบัติเหตุติดต่อกันมาหลายปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
การรักษาโรคมะเร็งการรักษาโรคมะเร็งแบ่งออกได้ 3 ชนิดได้แก่ การผ่าตัด (Surgery) การฉายรังสี (Radiotherapy) และการให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ซึ่งได้มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โรคมะเร็งหลายชนิดสามารถรักษาให้หายขาดหรือยับยั้งการดำเนินของโรคไม่ให้ลุกลามได้ แต่การตัดสินใจให้การรักษานั้นก็ขึ้นอยู่กับความต้องการและสภาวะของผู้ป่วยเป็นสำคัญ เป็นเหตุให้มีการปรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยมะเร็งจากเดิมที่มุ่งเน้นรักษาเฉพาะตัวโรค (disease-focus approach) เป็นการมุ่งเน้นที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย (patient-focus approach) โดยรวมการรักษาแบบสนับสนุน (supportive care) เพื่อลดหรือป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการรักษาเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาโรคมะเร็งด้วย
การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ในการรักษามะเร็งซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งการใช้เป็นการรักษาหลักหรือร่วมกับการรักษาวิธีอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ยาเคมีบำบัดเป็นยาที่มีอันตรายต่อเซลล์ มีช่วงการรักษาที่แคบ (narrow therapeutic) และมีการให้ยาที่ยุ่งยากซับซ้อนจึงมีโอกาสในการเกิดปัญหาจากการใช้ยา (drug-related problem, DRP) ได้ง่าย โดยเฉพาะการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา (adverse drug reaction) ที่สามารถเกิดได้แม้ว่าระดับยาอยู่ในช่วงการรักษา การศึกษาพบว่าอุบัติการณ์การเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาสูงถึงร้อยละ 74.3 โดยที่อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นนี้ ร้อยละ 88 สามารถทำนายการเกิดได้และร้อยละ 47.8 สามารถป้องกันได้ เภสัชกรจึงมีหน้าที่สำคัญในงานบริการเภสัชกรรมซึ่งได้แก่ การเตรียมยาเคมีบำบัด หรือยาที่มีพิษต่อเซลล์ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญ และอยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มงานเภสัชกรรม โดยมีหน้าทีจัดหาเตรียมยาและเก็บรักษายาให้ได้คุณภาพ เพื่อผู้ป่วยเฉพาะราย นอกจากนี้เภสัชกรยังมีบทบาทในการให้บริบาลทางเภสัชกรรม โดยมุ่งที่จะให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด ทั้งนี้ โดยยึดถือคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นหลักสำคัญ
ด้วยความตระหนักในความสำคัญของบทบาทเภสัชกรดังกล่าวในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กลุ่มงานเภสัชกรรม และกลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของเภสัชกรที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจและมีความชำนาญ ในการบริบาลทางเภสัชกรรมนอกเหนือจากหน้าที่ในการเตรียมยาเคมีบำบัดดังที่กล่าวมาในข้างต้น จึงได้ร่วมมือจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรม สาขาผู้ป่วยมะเร็ง Certificate short course Training Program in Pharmaceutical Care (Oncology Pharmaceutical care) เป็นหลักสูตรระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรม 16 สัปดาห์ เป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากสภาเภสัชกรรม ตามประกาศสภาเภสัชกรรม ที่ 6/2559 เรื่อง รับรองหลักสูตรระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรม ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 และดำเนินการจัดฝึกอบรมในหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรม สาขามะเร็ง ภายใต้โครงการจัดการหลักสูตรNon Degree มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จนถึงปัจุบัน ร่วมกับกลุ่มงานเภสัชกรรม กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โดยมีเนื้อหาทางทฤษฎีสอดแทรกตลอดระยะของการฝึกปฏิบัติงานในการฝึกปฏิบัติงานบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยโรคมะเร็ง และกำหนดให้เภสัชกรฝึกปฏิบัติงาน ณ หอผู้ป่วยเคมีบำบัดและคลินิกผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งเป็นสถานที่หลักในการบริบาลผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โดยเภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตร มีโอกาสปฏิบัติงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญในการบริบาลผู้ป่วย ระยะเวลาของการฝึกปฏิบัติงานเภสัชกรรมคลินิกบนหอผู้ป่วยเคมีบำบัดและคลินิกผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรมตลอดหลักสูตร จำนวน 16 สัปดาห์ มีจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 16 หน่วยกิต ประกอบด้วย ภาคทฤษฎี 2 หน่วยกิต และภาคปฏิบัติ14 หน่วยกิต โดยมีคณาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นผู้กำกับอย่างใกล้ชิด การฝึกปฏิบัติวิชาชีพจะเน้นเรื่อง กลไกการเกิดโรค และการบริบาลด้วยยาเคมีบำบัด โดยใช้กิจกรรม Pharmacotherapy Consultation และ Drug Information Services เป็นกลไกหลักในการเรียนการสอน เภสัชกรมีโอกาที่จะทำวิจัย (Research Projects) ให้ความรู้ด้านยา (In-service) แก่บุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เช่น แพทย์ และ พยาบาล ตลอดจนการใช้ Evidence-Based Medicine มาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วย หลักสูตรนี้เน้นถึงการทำให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจถึงหลักการทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเพื่อที่จะสามารถนำไปปฏิบัติตลอดจน ริเริ่มการบริบาลทางเภสัชกรรมได้จริงเมื่อจบหลักสูตรการอบรม
เภสัชกรที่สำเร็จการฝึกอบรมในหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาผู้ป่วยมะเร็ง Certificate in Pharmacy (Oncology Pharmaceutical care) และจะได้รับหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์สูงสุด ไม่เกิน 30 หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องต่อหลักสูตร
วัตถุประสงค์
1.เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมมีความพร้อมในส่วนของยาเคมีบำบัด ได้แก่ ด้านเภสัชวิทยา ฤทธิ์ในการทำลายเซลล์มะเร็ง พิษที่เกิดจากการใช้ยา ขนาดยา และวิธีการบริหารยา
2.เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมมีเข้าใจวัตถุประสงค์ของการใช้ยาเคมีบำบัดแบบสูตรผสม
3.เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมมีเข้าใจวัตถุประสงค์ของการใช้ยาเคมีบำบัดแบบสูตรผสมให้เภสัชกรได้ประยุกต์ใช้ความรู้จากการเตรียมผสมยาเคมีบำบัด และหลักในการบริหารยา มาช่วยในการบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยมะเร็ง
4.เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมมีเข้าใจวัตถุประสงค์ของการใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ
5.เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมมีเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการทำวิจัยขอบเขตของโรคมะเร็ง(Cancer Research) ตลอดจนการประเมินยาใหม่ที่จะถูกนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
6.เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมได้ฝึกปฏิบัติงานการบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งบนหอผู้ป่วยเคมีบำบัดและคลินิกผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์