ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ก.ย. 5 พ.ย. และ 5 ธ.ค. 2567
การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 24 “Medicine and the future of healthcare: reflecting on the past to forge ahead”
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 24 “Medicine and the future of healthcare: reflecting on the past to forge ahead”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รหัสกิจกรรม 1004-2-000-003-01-2567
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมริชแมน รีสอร์ท โฮเทล หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
วันที่จัดการประชุม 27 -28 ม.ค. 2567
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันในประเทศไทยมียาชื่อสามัญ (generic drugs) และยาต้นแบบ (original drugs) ทั้งชนิดและรูปแบบยาจำนวนมากขึ้น ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาชีวสมมูล (bioequivalence) ของยาซึ่งเป็นการศึกษาความเท่าเทียมกันในประสิทธิภาพการรักษาของยาสามัญและยาต้นแบบ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องศึกษาและเข้าใจ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ได้ยาที่มีความเท่าเทียมกันทางผลการรักษาและความปลอดภัย (Therapeutic equivalence) ในการนำมาใช้รักษาผู้ป่วย โดยก่อนการจะศึกษาว่ายามีชีวสมมูลกัน จำเป็นต้องพิสูจน์ว่ายานั้นมีความเท่าเทียมกันทางเภสัชกรรม (pharmaceutical equivalence) ซึ่งจะต้องมีตัวยาสำคัญ ขนาด ความแรง และรูปแบบยาเดียวกัน โดยเข้ามาตรฐานข้อกำหนดเหมือนกันหรือเทียบเท่ากัน ขณะที่ยาชีววัตถุคล้ายคลึง (biosimilars) คือ ชีวเภสัชภัณฑ์ที่ผลิตเลียนแบบยาต้นแบบ การยาชีววัตถุคล้ายคลึงจะต้องทำการศึกษาเปรียบเทียบกับยาต้นแบบในด้านคุณภาพยา ความปลอดภัย และประสิทธิภาพ เพื่อขออนุมัติขึ้นทะเบียนตำรับยาตามแนวทางไบโอซิมิลาร์ ซึ่งมีข้อกำหนดที่แตกต่างไปจากการขึ้นทะเบียนยาสามัญใหม่ที่เป็นยาเคมี ยาชีววัตถุคล้ายคลึงสามารถได้รับการอนุมัติให้ขยายข้อบ่งใช้ได้ และในปัจจุบันการสลับเปลี่ยนใช้ยาชีววัตถุคล้ายคลึงแทนยาชีววัตถุต้นแบบได้รับการยอมรับมากขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยามีโอกาสเข้าถึงยาที่มีคุณภาพดีและราคาสมเหตุสมผลได้มากขึ้น
จากยาชีววัตถุคล้ายคลึงและยาชื่อสามัญที่มีทั้งชนิดและรูปแบบยาจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการค้นหา ประเมิน และป้องกันเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (adverse event, AE) หรือปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับยาหรือ Pharmacovigilance ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยามากขึ้น จึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเช่นกัน
เภสัชกรซึ่งเป็นบุคลลากรทางการแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญ ในกระบวนการคัดเลือกยาไปจนถึงให้คำปรึกษาและแนะนำการใช้ยาแก่ผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการใช้ยารวมถึงมีความปลอดภัยจากการใช้ยา สูงสุด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เภสัชกรจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในยาชีววัตถุคล้ายคลึงและยาชื่อสามัญเพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพที่เหมาะสมและนำไปใช้กับผู้ป่วยต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้แนวทางการสลับเปลี่ยนการใช้ยาชีววัตถุคล้ายคลึงทดแทนยาชีววัตถุต้นแบบ ตามข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ ของหน่วยงานกํากับดูแลการขึ้นทะเบียนยา แก่เภสัชกรโรงพยาบาล
2. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเภสัชกรโรงพยาบาลให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการประเมินคุณภาพของยาชื่อสามัญในส่วนของข้อมูลชีวสมมูล และการติดตามความปลอดภัยของยาหลังออกสู่ตลาด
3. เพื่อให้เภสัชกรโรงพยาบาลได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการตั้งเกณฑ์การคัดเลือกยาชีววัตถุคล้ายคลึงและยาชื่อสามัญ
คำสำคัญ
Biosimilars, Switching Biosimilars, Bioequivalence study, Pharmacovigilance