ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ก.ย. 5 พ.ย. และ 5 ธ.ค. 2567
การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 21 “The New Era for Cardiovascular Treatment : Pharmacotherapies for Acute and Chronic Heart Failure”
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 21 “The New Era for Cardiovascular Treatment : Pharmacotherapies for Acute and Chronic Heart Failure”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รหัสกิจกรรม 1004-2-000-032-10-2566
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมศิวา รอยัล อ.เมือง จ.พัทลุง
วันที่จัดการประชุม 07 -08 ต.ค. 2566
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรโรงพยาบาลอื่นๆ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 5.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับการรักษาหัวใจและหลอดเลือดมีการพัฒนาและก้าวหน้าไปอย่างมาก มีแนวทางการรักษาใหม่ๆ ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาสามารถลดอัตราการนอนโรงพยาบาลซ้ำ ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงลดอัตราการเสียชีวิตในระยะยาว โดยเฉพาะผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง
ภาวะหัวใจล้มเหลว หมายถึง กลุ่มอาการทางคลินิกที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของโครงสร้างหรือการทำหน้าที่ของหัวใจ ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายหรือรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติส่งผลให้มีอาการหายใจเหนื่อย (dyspnea) อ่อนเพลีย (fatigue) ทำให้ความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ ลดลง
สำหรับภาวะหัวใจล้มเหลวนี้ โดยทั่วไปจะมีการดำเนินไปของโรคอย่างค่อนข้างคงที่และได้รับการรักษาดูแลในสถานะผู้ป่วยนอก โดยอาจจะมีหรือไม่มีอาการแสดงทางคลินิก ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะถูกจัดเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง หรือ chronic heart failure (CHF) ในระหว่างที่ได้รับการรักษาติดตาม หากผู้ป่วยมีอาการทางคลินิกที่แย่ลง ต้องการการประเมินหรือการรักษาแบบเร่งด่วน มักจะเป็นการรักษาในสถานะผู้ป่วยใน โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หรือ acute heart failure (AHF) สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุที่สำคัญและพบบ่อย ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจ และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ รวมทั้งรักษาอาการภาวะหัวใจล้มเหลวควบคู่กันไป
ทั้งนี้ควรรักษาด้วยยาที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และสามารถลดการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ ฉะนั้นเภสัชกรโรงพยาบาลซึ่งมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวให้เกิดประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น รวมทั้งการทำงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับยาที่มีประสิทธิผลและเหมาะสม จำเป็นต้องมีการศึกษาและทบทวนองค์ความรู้ที่จำเป็น ข้อมูลความรู้ใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว เพื่อนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปประยุกต์เพื่อใช้ได้ถูกต้องต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการเลือกใช้ยารักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวสำหรับเภสัชกรโรงพยาบาล
2. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการให้บริบาลทางเภสัชกรรมสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว
3. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเภสัชกรโรงพยาบาลให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการให้บริบาลทางเภสัชกรรมสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว สามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน
คำสำคัญ
Acute Heart Failure, Chronic Heart Failure, Cost Effectiveness, Heart Failure clinic