หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันโรคไตเรื้อรังกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย คนไทยมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้น โรคไตเรื้อรังเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงในการดูแลรักษา ปี2561มีจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องรับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้องกว่า 100,000 คน มูลค่าที่รัฐบาลต้องใช้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านทรัพยากรบุคคลและค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละกว่า 20,000 ล้านบาท แนวโน้มการเสียชีวิตของผู้ป่วยไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นจากอัตราตายต่อแสนประชากร 14.24 เพิ่มเป็น 16.49 จากพ.ศ.2559 – 2563
จากรายงานข้อมูลการบำบัดทดแทนไตในประเทศไทย พ.ศ.2563 โดยอนุกรรมการลงทะเบียนการบำบัดทดแทนไต(TRT) สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย รายงานสถารการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตสะสม รวม 170,774 ราย ในปี 2562 แบ่งเป็นการบำบัดด้วยวิธีฟอกไต 129,724 ราย การล้างไตทางช่องท้อง 34,467 ราย และ การบำบัดโดยการปลูกถ่ายไต 6,583 ราย ปี 2563 มีหน่วยไตเทียม(Hemodialysis) ทั่วประเทศ 855 หน่วย มีเครื่องไตเทียม 10,512 เครื่อง จำนวนหน่วยล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal dialysis units) ทั่วประเทศ 201 หน่วย
การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ป่วยไตเรื้อรังและกระจายอยู่ทั่วทุกอำเภอในประเทศไทย ทำให้เภสัชกรที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลระดับต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึงการออกเยี่ยมบ้าน จำเป็นจะต้องมีความรู้ที่ทันสมัย ถูกต้อง รวมถึงมีทักษะต่างๆที่จะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยไตเรื้อรังมีความปลอดภัยจากการใช้ยาและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นกลุ่มเภสัชกรครอบครัวแห่งประเทศไทย หรือ CoP SOFT จึงทำโครงการประชุมออนไลน์ “เภสัชกรกับการดูแลผู้ป่วยไตเรื้อรัง” ขึ้นเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะที่สำคัญให้กับเภสัชกรได้นำไปใช้ดูแลผู้ป่วยไตเรื้อรัง