การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานเภสัชกรรมปฐมภูมิ จังหวัดอุบลราชธานี
ชื่อการประชุม โครงการประชุมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานเภสัชกรรมปฐมภูมิ จังหวัดอุบลราชธานี
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
รหัสกิจกรรม 1010-2-000-026-07-2566
สถานที่จัดการประชุม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี
วันที่จัดการประชุม 17 ก.ค. 2566 - 18 ส.ค. 2566
ผู้จัดการประชุม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 80 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 10 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศ โดยให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิ เพื่อดูแลสุขภาพปฐมภูมิที่มีระบบและมีประสิทธิภาพทั้งประเทศ ให้ประชาชนชาวไทยได้รับบริการที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพและเป็นธรรม โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิผ่านทีมหมอครอบครัว (Family Care Team) และระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System) ให้มีการดำเนินงานบริการสุขภาพเชิงรุกในระดับครอบครัวและชุมชน ส่งผลให้การปฏิบัติงาน ของสหวิชาชีพจะต้องมีการปรับบทบาท และหน้าที่ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพแบบองค์รวม และให้ความสำคัญกับประชาชนทั้งกลุ่มทั่วไป กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วย
เภสัชกรเป็นหนึ่งในสหวิชาชีพของทีมคลินิกหมอครอบครัว ที่ทำหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยและครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาและการคุ้มครองผู้บริโภค โดยครอบคลุมมิติการดูแลแบบองค์รวมเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยและครอบครัว ภายใต้รูปแบบการทำงานที่เข้าถึงง่าย เน้นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเภสัชกร ผู้ป่วย ครอบครัว และการทำงานร่วมกันระหว่างสหสาขาวิชาชีพ เภสัชกรจึงควรมีความรู้ที่ทันสมัย ถูกต้อง รวมถึงทักษะต่างๆที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน รวมถึงกรอบแนวคิดในการนำศาสตร์แขนงต่างๆ ทางเภสัชกรรมมาผสมผสานเพื่อใช้ในการค้นหา ป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการดำเนินงานได้ ประกอบกับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เนื่องจากการกระจายอำนาจด้วยการถ่ายโอน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี ให้ไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในปีงบประมาณ 2566 จำนวนกว่า 3,000 แห่ง หลังจากที่เคยถ่ายโอนให้กับ เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ครั้งนี้ เป็นการถ่ายโอน รพ.สต. ไปสู่หน่วยงานใหญ่ที่สุดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่าง อบจ. ดังนั้น การจัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อให้มีการพัฒนาความรู้และทักษะของเภสัชกรทั้งในบทบาทเภสัชกรครอบครัว และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานเภสัชกรรมปฐมภูมิและงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านเภสัชสาธารณสุข ตลอดจนแนวทางสู่ความสำเร็จของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ คือ การทำให้หน่วยงานในท้องถิ่นสามารถตอบสนองปัญหาและความต้องการของประชาชนได้ตรงจุด ภายใต้ความมีธรรมาภิบาล เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค การฟื้นฟูและส่งเสริมสุขภาพ ตลอดจนการแพทย์ฉุกเฉินและการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และ สอดรับกับนโยบายการชับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ และงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านเภสัชสาธารณสุข รวมที่งการขับเคลื่อนงานปฐมภูมิภายหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของกระทรวงสาธารณสุข
วัตถุประสงค์
1. พัฒนาความรู้และทักษะของเภสัชกรในบทบาทเภสัชกรครอบครัว
2. นำเสนอผลงานเด่นที่เป็นตัวอย่างที่ดี และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานเภสัชกรรมปฐมภูมิและงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านเภสัชสาธารณสุข
3. แลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันหาแนวทางการขับเคลื่อนงานปฐมภูมิภายหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
คำสำคัญ