การประชุมวิชาการ
การอบรมการประเมินความคุ้มค่าทางสาธารณสุขโดยใช้ข้อมูลระดับบุคคล ครั้งที่ 1
ชื่อการประชุม การอบรมการประเมินความคุ้มค่าทางสาธารณสุขโดยใช้ข้อมูลระดับบุคคล ครั้งที่ 1
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-2-000-030-07-2566
สถานที่จัดการประชุม โรงแรม เดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 06 -07 ก.ค. 2566
ผู้จัดการประชุม โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ
กลุ่มเป้าหมาย นักวิชาการ นักวิจัย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน นักศึกษา และผู้ที่สนใจ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 8.25 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program หรือ HITAP) เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีภารกิจหลัก คือ ศึกษาผลกระทบทั้งบวกและลบที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีหรือนโยบายด้านสุขภาพ โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายของภาครัฐ เพื่อให้การเลือกใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นไปอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ HITAP ยังให้ความสำคัญและดำเนินงานเพื่อการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถด้านการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายทั้งในระดับบุคคล องค์กร และบริบทของระบบสุขภาพ ที่ผ่านมา HITAP มีการจัดการอบรมการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข (Health economic evaluation) แก่บุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชนภายนอกขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจัดการอบรมอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 15 ปี
โดยทั่วไปการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข นิยมใช้ข้อมูลแบบผลรวม (aggregate data) เพื่อสร้างแบบจำลองการประเมินความคุ้มค่าฯ อย่างไรก็ตามการสร้างแบบจำลองโดยใช้ข้อมูลแบบผลรวมจำเป็นต้องตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ค่อนข้างจำกัด ไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (individual variability) ประกอบกับในปัจจุบันข้อมูลระดับบุคคล (person-level data) อาทิ ข้อมูลจากฐานข้อมูลทางการแพทย์ การทดลองทางคลินิก หรือการศึกษาเชิงสังเกตมีจำนวนมากขึ้น ทำให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการนำมาใช้ประกอบการสร้างแบบจำลองสำหรับการประเมินความคุ้มค่าฯ ทาง HITAP ได้เล็งเห็นถึงโอกาสและความสำคัญของการใช้ข้อมูลระดับบุคคลในการประเมินความคุ้มค่าฯ จึงได้จัดการอบรมการประเมินความคุ้มค่าทางสาธารณสุขโดยใช้ข้อมูลระดับบุคคล (Conducting economic evaluation using person-level data) ครั้งที่ 1 ขึ้น
การอบรมจะเน้นทั้งการบรรยายเกี่ยวกับหลักการและรายละเอียดของวิธีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขโดยใช้ข้อมูลระดับบุคคล อาทิ การวิเคราะห์การถดถอยเพื่อประมาณการอัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม (Incremental Cost-Effectiveness Ratio: ICER) และ Incremental Net Benefit (INB) พร้อมทั้งการฝึกปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมเกิดความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและทำวิจัยได้จริง
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการ องค์ประกอบ แนวทาง และความสำคัญของการใช้ข้อมูลระดับบุคคลในการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข
2. เพื่อประยุกต์ใช้เครื่องมือการวิเคราะห์การถดถอย (regression analysis) กับข้อมูลระดับบุคคลในการประมาณค่า ICER และ INB
3. เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการกำหนดลักษณะของความไม่แน่นอน (uncertainty) อันเกิดจากการใช้ข้อมูลระดับบุคคลในการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข
4. เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในสื่อสารผลการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขด้วยข้อมูลระดับบุคคล
5. เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
การสมัครและค่าลงทะเบียน ภายในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2566 (ไม่รับลงทะเบียนหน้างาน) รอบ วันที่รับสมัคร ราคา Early Bird 20-31 มีนาคม พ.ศ. 2566 13,000 บาท ทั่วไป 1-30 เมษายน พ.ศ 2566 15,000 บาท * ส่วนลดพิเศษ 10% สำหรับศิษย์เก่าการอบรมการประเมินความคุ้มค่าทางสาธารณสุข (EE) เมื่อแสดงหลักฐานประกอบ ได้แก่ ประกาศนียบัตร หลักฐานการโอนเงิน หรือใบเสร็จรับเงิน ** ข้าราชการสามารถเบิกจ่ายค่าลงทะเบียน ค่าเดินทางและค่าที่พักจากต้นสังกัดได้ตามระเบียบกระทรวงการคลัง และสามารถเข้าร่วมประชุมโดยไม่ถือเป็นวันลา นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการอบรมที่เรียนครบตามหลักสูตรที่กำหนดสามารถขอรับหน่วยกิต CME, CDEC และ CPE ได้