การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 19 “Formulary Selection Criteria and Practical Considerations for Hospital Pharmacists”
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 19 “Formulary Selection Criteria and Practical Considerations for Hospital Pharmacists”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รหัสกิจกรรม 1004-2-000-019-07-2566
สถานที่จัดการประชุม โรงแรม ลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา สงขลา อ.เมือง จ.สงขลา
วันที่จัดการประชุม 15 -16 ก.ค. 2566
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรที่สนใจ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 4.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การคัดเลือกยาเพื่อใช้ในโรงพยาบาลถือเป็นหัวใจของการจัดซื้อยา โดยการคัดเลือกยาเพื่อใช้ในโรงพยาบาลจะดำเนินการในรูปแบบของคณะทำงานที่มีชื่อว่า คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (Pharmacy and Therapeutic Committee, PTC) โดยหน้าที่อันดับแรกคือการกำหนดเกณฑ์ที่นำมาใช้พิจารณาคัดเลือกยาเข้าโรงพยาบาล กรณียาที่หมดสิทธิบัตรมีในบัญชียาโรงพยาบาลแล้ว จะพิจารณาถึงความเหมาะสมในหลายๆประเด็น ที่สำคัญได้แก่ ประโยชน์ในการนำมาใช้รักษาผู้ป่วย อาการไม่พึงประสงค์และพิษของยา มาตรฐานผลิตภัณฑ์และราคายา โดยยาที่มีสูตรหรือส่วนประกอบทางเคมีเหมือนกัน เช่น ยาที่มีทั้งยาต้นแบบ (original product) และยาชื่อสามัญ (generic product) วิธีการคัดเลือกเบื้องต้นที่ทุกโรงพยาบาลใช้วิธีคล้ายกัน คือ พิจารณาประเด็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์และราคา ซึ่งมักจะคัดเลือกเพียงยา 1 ชื่อการค้า แต่ในกรณียาที่ขาดคราวบ่อยอาจคัดเลือกชื่อการค้าสำรอง กรณีที่เป็นยาใหม่ที่ยังไม่เคยมีในบัญชียาโรงพยาบาล จะพิจารณาในประเด็นประโยชน์ในการนำมาใช้รักษาผู้ป่วย อาการไม่พึงประสงค์และพิษของยา ประสิทธิผลและราคาที่ใช้ในการรักษา โดยเปรียบเทียบกับยาที่มีคุณสมบัติคล้ายกันหรือข้อบ่งใช้เดียวกัน ที่มีหรือไม่มีอยู่ในบัญชียาโรงพยาบาล ซึ่งเภสัชกรจะมีบทบาทในการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของยาที่ต้องจัดซื้อ ว่ายาแต่ละรายการควรมีคุณลักษณะเฉพาะอย่างไร ตลอดทั้งการประเมินข้อมูลประกอบอื่นๆ เช่น ข้อมูลด้านคุณภาพ ข้อมูลทางคลินิก โดยอ้างอิงหลักวิชาการ เนื่องจากยาแต่ละชื่อการค้าอาจมีแหล่งวัตถุดิบและกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างกัน ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการรักษา
ฉะนั้นเภสัชกรโรงพยาบาลจะมีส่วนสำคัญในการคัดเลือกยาให้ได้ยาที่มีคุณภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับยาที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและทบทวนองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการคัดเลือกยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการจัดหาและกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณายาให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งเพื่อนำเสนอข้อมูลในที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาตัดสินใจ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในปัจจุบันเกี่ยวกับแนวทางในการประเมินข้อมูลและหลักฐานทางวิชาการที่จำเป็นในการคัดเลือกยาเข้าบัญชียาโรงพยาบาล
2. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเภสัชกรโรงพยาบาลให้เข้าใจประเด็นที่สำคัญในการคัดเลือกยาเข้าบัญชียาโรงพยาบาล สามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน
3. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการคัดเลือกยาเข้าบัญชียาโรงพยาบาล
คำสำคัญ
Biosimilars, Value Based, formulary, Bioequivalence, Therapeutic Equivalence