ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ก.ย. 5 พ.ย. และ 5 ธ.ค. 2567
การประชุมวิชาการ
ประชุมวิชาการสมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ประจำปี 2566 “ก้าวถัดไปกับจีโนมิกส์ประเทศไทย”
ชื่อการประชุม ประชุมวิชาการสมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ประจำปี 2566 “ก้าวถัดไปกับจีโนมิกส์ประเทศไทย”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
รหัสกิจกรรม 1015-2-000-009-05-2566
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมเรดิสัน บลู พลาซ่า กรุงเทพ
วันที่จัดการประชุม 29 -30 พ.ค. 2566
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
กลุ่มเป้าหมาย บุคลากรทางการแพทย์ นิสิต นักศึกษา ผู้เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 10.25 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
สมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมการศึกษา งานวิจัย และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานด้านพันธุศาสตร์ในทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ส่งเสริมการศึกษาผลกระทบทางสังคม จริยธรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความรู้และเทคโนโลยี ด้านพันธุศาสตร์ที่เกี่ยวกับมนุษย์ สนับสนุนพัฒนานโยบายและแนวปฏิบัติ เพื่อให้ความก้าวหน้าอย่างเหมาะสมในด้านการศึกษาและวิจัยทางพันธุศาสตร์ที่เกี่ยวกับมนุษย์ โดยคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและจริยธรรม ส่งเสริมงานด้านวิชาการ และการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพที่เกี่ยวข้องด้านพันธุศาสตร์มนุษย์ ที่เกี่ยวข้องในบริบทประเทศไทย และสนับสนุนการเพิ่มการผลิตผู้ปฏิบัติงานในสาขาพันธุศาสตร์ในมนุษย์ สนับสนุนกิจกรรมและร่วมมือกับหน่วยงานราชการและองค์กรต่างๆทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับงานด้านพันธุศาสตร์ของมนุษย์ โดยไม่มุ่งหวังผลทางธุรกิจ เผยแพร่ความรู้ทางด้านพันธุศาสตร์ของมนุษย์ให้แก่ประชาชน เพื่อให้ตระหนักถึงผลของปัจจัยทางพันธุกรรมและข้อจำกัดของการเข้าใจต่อพฤติกรรม สุขภาพ ของมนุษย์อย่างเหมาะสม ดำเนินงานการกุศลและจัดกิจกรรมรณรงค์ เพื่อหางบประมาณและความร่วมมือสนับสนุนการเผยแพร่วิชาการด้านพันธุศาสตร์ของมนุษย์ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สังคมและประชาชนทั่วไป ส่งเสริมความสามัคคีระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยพันธุศาสตร์ รวมทั้งดำรงซึ่งจริยธรรมทางวิชาชีพโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด ภายใต้แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย สมาคมมนุษยพันธุศาสตร์มีบทบาทในการสร้างความตระหนัก และความเข้าใจที่ถูกต้อง เหมาะสม เกี่ยวกับงานด้านพันธุศาสตร์มนุษย์ เผยแพร่องค์ความรู้ ทั้งทางด้านวิชาการ และความรู้ด้านพันธุศาสตร์พื้นฐานเพื่อสนับสนุนสังคมไทยให้เกิดความเข้าใจ รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจอันเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของตนเองได้ ทั้งนี้ สมาคมฯ มีความประสงค์ที่จะจัดประชุมวิชาการประจำปี 2566 ของสมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ โดยมีกำหนดการ 2 วัน ในเดือนพฤษภาคม 2566 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการด้านพันธุศาสตร์มนุษย์และการแพทย์จีโนมิกส์ สนับสนุนในเกิดความรับรู้ถึงแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย โดยใช้รูปแบบการจัดประชุมแบบการประชุมวิชาการผสมผสาน ทั้งการประชุมแบบ on-site และการประชุมแบบ online ในบางหัวข้อที่มีความสำคัญ
แนวทางหลักของการประชุมในปีนี้กำหนดให้เป็น Genomics Thailand: The Progress and Momentum โดยเวทีนี้จะช่วยประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าและผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขั้นหลังจากเริ่มดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทยให้กับวงวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์รวมถึงความเป็นไปได้ของธุรกิจใหม่และผู้ที่สนใจกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจีโนมิกส์ต่าง ๆ ในส่วนของเนื้อหาการประชุม จะประกอบไปด้วยหัวข้อที่กำลังเป็นที่สนใจของสังคม เช่นความก้าวหน้าของโครงการถอดรหัสพันธุกรรมทั่วจีโนมของอาสาสมัคร 50,000 ราย และมาตรฐานที่ใช้ในการกำกับการถอดรหัสพันธุกรรม การประมวลผลข้อมูลเพื่อสกัดตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่ส่งผลต่อการเกิดโรค รวมถึงการพัฒนาระบบชีวสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการข้อมูลจีโนม/ช่วยการวินิจฉัยของแพทย์ ความก้าวหน้าในการศึกษาด้านพันธุศาสตร์ประชากร (Population genomics) และการควบคุมเหนือจีโนม ที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง รวมถึงอายุขัยและการมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นของมนุษย์ สถานการณ์ของการใช้การแพทย์จีโนมิกส์ เพื่อให้บริการด้านการวินิจฉัยโรคหายาก โรคมะเร็ง เภสัชพันธุศาสตร์ และเทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ ที่มีใช้ในประเทศไทย การใช้เทคโนโลยีจีโนมในทางคลินิก ปัญญาประดิษฐ์ในจีโนมทางการแพทย์ กฎระเบียบ กฎหมาย จริยธรรม และ ผลกระทบเชิงสังคม อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีจีโนมและการตรวจทางพันธุกรรม รวมถึงแนวนโยบายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเตรียมกำลังคนและการให้ความรู้ด้านจีโนมิกส์ โดยเมื่อเสร็จสิ้น การประชุมจะมีการทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ที่รวบรวมสาระสำคัญของการประชุม และการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ทางด้านการแพทย์จีโนมิกส์ รวมถึงบทสรุปผู้บริหาร และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสุขภาพและการแพทย์ที่เกิดจากการประชุมในครั้งนี้ สำหรับนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการกำกับทิศแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย และสำหรับนำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
วัตถุประสงค์
1. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านเวชศาสตร์จีโนม และมนุษยพันธุศาสตร์ในประเทศไทย
2. รวบรวมแนววิธีปฏิบัติในการวินิจฉัยและรักษา เพื่อใช้แนวทางในการรักษาทางด้านการแพทย์จีโนมิกส์ต่อไป
3. เกิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและองค์ความรู้ทั้งด้านการวิจัยด้านเวชศาสตร์จีโนมและมนุษยพันธุศาสตร์
การวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรม ชีวสารสนเทศ บริหารจัดการข้อมูลพันธุกรรมและฐานข้อมูลพันธุกรรมขนาดใหญ่
4. ส่งเสริมให้ประชาคมวิจัย/การบริการ ด้านมนุษยพันธุศาสตร์และเวชศาสตร์จีโนม มีความตระหนักรู้ ดำเนินงานโดยคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและจริยธรรมและกฎหมายผ่านเวทีการอภิปรายด้าน Ethical Legal and Social Implication
5. ประชาสัมพันธ์/ให้ความรู้แก่ประชาชน สังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ถึงความสำคัญของเทคโนโลยีด้าน
เวชศาสตร์จีโนมและมนุษยพันธุศาสตร์ ต่อการพัฒนามาตรฐานการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข และประเด็นทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง
คำสำคัญ
มนุษยพันธุศาสตร์, ประชุมวิชาการ, การแพทย์จีโนมิกส์