หลักการและเหตุผล
การดูแลสุชภาพด้วยตนเองของประชาชนนิยมเลือกรับบริการจากสถานประกอบการเภสัชกรรมชุมชน(ร้านขายยาแผนปัจจุบัน) เป็นอันดับต้นๆเนื่องจากสามารถเข้าถึงง่ายดังนั้นในการบริการเภสัชกรรมในประกอบการเภสัชกรรมชุมชนจึงจำเป็นต้องมีคุณภาพมาตรฐานเพื่อให้ประชาชนได้รับยาที่มีความปลอดภัย เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการรักษา กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๖ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาภายใต้วิธีปฏิบัติที่ดีทางเภสัชกรรมชุมชน (Good Pharmacy Practice: GPP) และออกรายละเอียดของการปฎิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกําหนดเกี่ยวกับสถานที่ อุปกรณ์ และวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน ในสถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา พ.ศ. ๒๕๕๗ เพื่อกำหนดมาตรฐานหรือวิธีการให้บริการทางเภสัชกรรมด้านยาในร้านขายยาแผนปัจจุบันทุกแห่งต้องปฏิบัติตามภายใต้การการตรวจสอบควบคุมกำกับของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ
จังหวัดชลบุรีมีการขยายตัวของธุรกิจร้านขายยาแผนปัจจุบันและมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนร้านยาอย่างต่อเนื่อง เป็นจังหวัดที่มีจำนวนร้านขายยาแผนปัจจุบันมากเป็นอันดับสองของประเทศ จำนวนทั้งหมด 1,110 แห่ง ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินตามวิธีปฏิบัติที่ดีทางเภสัชกรรมชุมชน จำนวน 1,070 แห่ง (96.40 %) ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีได้ใช้บุคลากรจำนวนมากในการออกตรวจประเมินพบว่าเกณฑ์การประเมินในหลายๆข้อนั้นพบว่ายังต้องอาศัยดุลยพินิจของผู้ตรวจประเมินรวมถึงรายละเอียดของเกณฑ์ในการตรวจต่างๆยังพบว่าหลายข้อไม่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมทำให้มีความแตกต่างหลากหลายในแนวทางปฏิบัติและยังไม่สามารถเชื่อมโยงต่อเนื่องไปในการพัฒนาการบริการทางเภสัชกรรมได้เพียงพอ จึงมีความร่วมมือกับภาคเอกชน ประกอบด้วยสมาคมเภสัชกรจังหวัดชลบุรี สมาคมผู้ประกอบการร้านยาจังหวัดชลบุรี สมาคมผู้ประกอบการร้านยารวมใจภาคตะวันออก และชมรมร้านยาตามอำเภอต่างๆ รวม 8 อำเภอ ในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาร้านยาแผนปัจจุบันในจังหวัดชลบุรี โดยจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพร้านยาจังหวัดชลบุรีขึ้น และประสานความร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาเพิ่มเติมเข้าไปเป็นคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อสนับสนุนส่งเสริมในด้านวิชาการให้มีความเข้มแข็ง และให้การปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนบรรลุผลเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและเป็นการส่งเสริมวิชาชีพเภสัชกรรมให้มีมาตรฐานได้รับการยอมรับมากขึ้น
ในการนี้ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงร่วมกับหน่วยงานภายนอกประกอบไปด้วย สภาเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ชมรมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทย สมาคมเภสัชกรจังหวัดชลบุรี สมาคมผู้ประกอบการร้านยาจังหวัดชลบุรี รวมถึงกลุ่มผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลการตรวจประเมินร้านขายยาแผนปัจจุบันจังหวัดชลบุรี จัดทำหลักสูตรพัฒนาความรู้และทักษะของผู้ที่มีศักยภาพในการเยี่ยมสำรวจ เก็บข้อมูลประเมินการปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพด้านการบริการเภสัชกรรมของร้านขายยาแผนปัจจุบันต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ดังนั้นจึงจะดำเนินจัดฝึกอบรมทีมเยี่ยมสำรวจร้านขายยาแผนปัจจุบันตามวิธีปฎิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน (Good Pharmacy Practice for Data Collector)