การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเภสัชกรรม เรื่อง การสื่อสารข้ามวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาบริการเภสัชกรรมสำหรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Cross-Cultural Communication in Pharmacy Service Development for Medical Tourism)
ชื่อการประชุม โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเภสัชกรรม เรื่อง การสื่อสารข้ามวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาบริการเภสัชกรรมสำหรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Cross-Cultural Communication in Pharmacy Service Development for Medical Tourism)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รหัสกิจกรรม 1005-2-000-029-08-2566
สถานที่จัดการประชุม ณ โรงแรม Dara Phuket Town จังหวัดภูเก็ต
วันที่จัดการประชุม 08 ส.ค. 2566 - 30 ก.ย. 2566
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรโรงพยาบาล
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 18 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งในแถบเอเชียตะวันตกออกเฉียงใต้ และการเข้าสู่สมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Community) ส่งผลให้มีการแข่งขันของตลาดเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และจาก Global COVID-19 Index (GCI) ประเทศไทยถือได้ว่ามีการฟื้นตัวจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในระดับที่ดี ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างประเทศที่ต้องการเดินทางมาเยือน หรือย้ายถิ่นฐานมาทำงานในลักษณะ Digital Nomad หรือพำนักในประเทศไทยหลังเกษียณอายุ จึงถือเป็นโอกาสในการสร้างความได้เปรียบทางการตลาดด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายให้การส่งเสริมอย่างชัดเจนภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (พ.ศ.2560-2569) ซึ่งได้มุ่งเป้าทำตลาดแบบเจาะจงกลุ่ม Health and Wellness โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการท่องเที่ยวร่วมกับการรักษา (Medical Tourism) นอกจากนี้ในยุคที่แนวโน้มของ Aging society กำลังขยายประชากรทั่วโลก ประเทศไทยมีจุดแข็งในเรื่องความปลอดภัย ความมีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมและอาหาร ความสวยงามของธรรมชาติที่ได้รับการฟื้นฟูหลังการระบาด COVID-19 ความมีน้ำใจเอื้ออาทรของคนไทยในการต้อนรับดูแลเกื้อกูลแขกผู้มาเยือน อีกทั้งข้อได้เปรียบในเรื่องคุณภาพการบริการของโรงพยาบาล ความชำนาญการของบุคลากรทางการแพทย์ไทย รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในมาตรฐานระดับสากลที่ประหยัดกว่าหากเทียบกับสหรัฐอเมริกาประมาณ 40-75% หรือสิงคโปร์ประมาณ 30% จึงถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญของประเทศไทยในการแข่งขันสู่ Medical Hub ระดับโลก
บทบาทของเภสัชกรที่ต้องทำงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพในด้านการสื่อความกับผู้รับบริการที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย จึงถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติงานด้านวิชาชีพเภสัชกรรมอย่างมีประสิทธิภาพแบบมืออาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทักษะและความสามารถในด้านสมรรถนะทางวัฒนธรรม (Cultural Competency) เพราะจะสามารถลดปัญหาความเครียด ความไม่พอใจ ตลอดจนความขัดแย้งกับผู้มารับบริการที่อาจนำไปสู่การฟ้องร้องที่วิกฤตต่อภาพลักษณ์ขององค์กรได้ นอกจากนี้การตระหนักเข้าใจในการทำงานกับผู้คนในสภาวะพหุวัฒนธรรมที่มีผลกระทบจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกองค์กร ยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับบริการที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสม และมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ในแต่ละองค์กรสุขภาพเพื่อให้สามารถพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ของภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืนต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมทราบเคล็ดลับสู่ความสำเร็จในการพัฒนาทักษะ และความสามารถในด้านสมรรถนะทางวัฒนธรรม ที่ตระหนักถึงพหุปัจจัยเมื่อต้องสื่อสารกับผู้รับบริการด้านเภสัชกรรม
2. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ และพัฒนาแนวทางการมีปฏิสัมพันธ์เมื่อต้องสื่อความกับผู้รับบริการที่มีพื้นฐานด้านวัฒนธรรมที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
คำสำคัญ
Cultural Communication
วิธีสมัครการประชุม
Online