การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการ การประยุกต์ใช้ Interrupted Time Series Analysis ในงานวิจัยทางคลินิก
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการ การประยุกต์ใช้ Interrupted Time Series Analysis ในงานวิจัยทางคลินิก
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
รหัสกิจกรรม 1011-2-000-002-03-2566
สถานที่จัดการประชุม ห้องประชุม PHAR 1104 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
วันที่จัดการประชุม 27 มี.ค. 2566
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
กลุ่มเป้าหมาย อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา จำนวน 15 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การศึกษา Interrupted Time Series Analysis (ITSA) เป็นรูปแบบหนึ่งของการวิจัยที่ใช้ทดสอบประสิทธิผลของสิ่งแทรกแซง หรือตัวแปรสาเหตุโดยพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรตามซึ่งเป็นข้อมูลอนุกรมเวลา (time series data) ระหว่างช่วงเวลาก่อนและหลังได้รับสิ่งแทรกแซง (interruption) ในปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้งานวิจัยรูปแบบ ITSA ในงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการทางด้านสุขภาพทั้งในระดับองค์กร และระดับประเทศ เช่น การประเมินนโยบายการใช้ยา การประเมินแนวทางเวชปฏิบัติ หรือการวางระบบ และมาตรการต่างๆ รวมถึงงานวิจัยทางสังคม และพฤติกรรมศาสตร์ เช่น ความรอบรู้ทางสุขภาพ พฤติกรรมการใช้ยา อาหารเสริม สมุนไพร เป็นต้น จากการสืบค้นฐานข้อมูล Pubmed ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสารสนเทศทางการแพทย์พบรายงานการวิจัยที่ใช้รูปแบบ ITSA มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ค.ศ. 2008-2012 มีจำนวน 533 เรื่อง ค.ศ. 2013-2017 มีจำนวน 1,542 เรื่อง และปี ค.ศ. 2018-2022 มีจำนวน 3,961 เรื่อง อย่างไรก็ตามผลการศึกษาที่ประเมินคุณภาพรายงานวิจัยที่ใช้รูปแบบ ITSA ของ Ramsay และคณะพบว่ารายงานการวิจัยยังมีข้อบกพร่องเช่น ไม่รายงานการให้สิ่งแทรกแซงที่ชัดเจนร้อยละ 60 ไม่ระบุที่มาของขนาดตัวอย่างร้อยละ 100 และการใช้สถิติไม่เหมาะสมร้อยละ 64 สอดคล้องกับงานวิจัยของเอกพล กาละดี ที่ศึกษาคุณภาพของงานวิจัยการให้สิ่งแทรกแซงโดยเภสัชกรที่ใช้รูปแบบการศึกษา ITSA พบว่ามีรายงานการศึกษาที่มีระเบียบวิธีวิจัยไม่ชัดเจนร้อยละ 47 มีการรายงานผลการศึกษาไม่เหมาะสมร้อยละ 58 และมีการเลือกใช้สถิติสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลไม่เหมาะสมร้อยละ 58 จะเห็นได้ว่าถึงแม้การศึกษารูปแบบ ITSA จะเพิ่มมากขึ้นแต่ผู้วิจัยควรระมัดระรังในเรื่องการออกแบบงานวิจัย และการวิเคราะห์ทางสถิติที่เหมาะสมเพื่อให้ผลการวิจัยมีความถูกต้องมากที่สุด ดังนั้นหน่วยวิจัยเภสัชระบาดวิทยา เภสัชสังคม และการบริหาร (PSAP) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งเป็นหน่วยงานทางด้านการศึกษาและงานวิจัยจึงเล็งเห็นความสำคัญในการจัดประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในงานวิจัยรูปแบบ ITSA เพื่อให้อาจารย์ และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสนใจงานวิจัยรูปแบบดังกล่าวสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ในงานวิจัยได้อย่างเหมาะสม
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานประชุมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานวิจัยรูปแบบ Interrupted Time Series
2. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานประชุมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับงานวิจัยของตนเองได้อย่างเหมาะสม
คำสำคัญ
Interrupted Time Series Analysis, epidemiology
วิธีสมัครการประชุม
แจ้งความประสงค์ผ่านทาง email: sirayut.pa@up.ac.th