การประชุมวิชาการ
งานประชุมวิชาการเภสัชศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ ประจำปี 2566 (Thai Pharmacy Education National Conference 2023) Foresight in Pharmacy Education: The Next Move
ชื่อการประชุม งานประชุมวิชาการเภสัชศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ ประจำปี 2566 (Thai Pharmacy Education National Conference 2023) Foresight in Pharmacy Education: The Next Move
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
รหัสกิจกรรม 1010-2-000-008-05-2566
สถานที่จัดการประชุม ห้องประชุมสามพันโบก โรงแรมเซ็นทาราอุบลราชธานี
วันที่จัดการประชุม 17 -19 พ.ค. 2566
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
กลุ่มเป้าหมาย
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 6.25 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ตามที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ประสานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) ได้มีการประชุมและหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาเภสัชศาสตร์ (มคอ.1) เมื่อปี พ.ศ. 2565 โดยได้พิจารณาถึงกฎกระทรวงเรื่องมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565 ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 139 ตอนที่ 20 ก ลงวันที่ 31 มีนาคม 2565 และบริบทของวิชาชีพเภสัชกรรม โดยที่ประชุมได้มีมติที่จะยังคงใช้เกณฑ์ มคอ.1 ต่อไปเพื่อเป็นกลไกในการประกันคุณภาพการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ของประเทศไทย นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นว่า ควรมีการปรับปรุง มคอ.1 พ.ศ. 2558เพื่อให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมทางสังคม นโยบายการศึกษาใหม่ที่เน้นความยืดหยุ่น (flexible education) ความเปลี่ยนแปลงของศาสตร์ด้านเภสัชศาสตร์และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และรวมไปถึงตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป การปรับปรุง มคอ. 1 ฉบับใหม่ พ.ศ. 2566 ผ่านการประชุม หารือและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ คณาจารย์และผู้บริหารจากสถาบันการศึกษา 19 แห่ง ผู้ใช้บัณฑิตสาขาต่างๆ ศิษย์เก่า ตัวแทนองค์กรวิชาชีพ รวมทั้งสภาเภสัชกรรม มีการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล จากนั้นจึงนำเสนอต่อกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สาระสำคัญใน มคอ.1 พ.ศ. 2566 มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมในบางหมวด/ประเด็น เช่น เพิ่มสาขาวิชาที่ 3 การคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ จากเดิมที่มี 2 สาขา คือ เภสัชกรรมอุตสาหการ และการบริบาลทางเภสัชกรรม การปรับโครงสร้างหลักสูตรและลดจำนวนหน่วยกิต และการกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังกล่าว ส่งผลต่อการจัดการหลักสูตร เช่น รูปแบบและวิธีการจัดการเรียนการสอน การประเมินผล ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยจำนวน 19 สถาบัน ได้เปิดสอนหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตหลักสูตร 6 ปี ภายใต้การให้ความเห็นชอบต่อหลักสูตรและการรับรองสถาบันโดยสภาเภสัชกรรม
ที่ผ่านมา มีการจัดประชุมวิชาการเภสัชศาสตรศึกษาอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่เนื่องจากการระบาดของโรค COVID-19 ในปี พ.ศ. 2563 จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นการจัดแบบ Webinar และในปี 2566 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านเภสัชศาสตรศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของ ศ.ศ.ภ.ท. ได้มอบหมายให้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมวิชาการ เภสัชศาสตรศึกษาแห่งชาติ ประจำปี 2566 ประเด็นหลัก Foresight in Pharmacy Education: The Next Move ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่คณาจารย์จากทุกสถาบันจะได้ร่วมหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนประสบการณ์ ในประเด็นต่างๆ ที่มีการปรับปรุงใน มคอ. 1 ฉบับใหม่ นอกจากนี้ในงานประชุมฯ มีการนำเสนอผลงานวิจัยทางเภสัชศาสตรศึกษา ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการสร้างองค์ความรู้แล้วยังส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือการทำงานด้านเภสัชศาสตรศึกษาระหว่างสถาบันต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อรับทราบข้อมูลสำคัญ สถานการณ์ และทิศทางการจัดการศึกษาเภสัชศาสตร์ของไทย
2. เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์การดำเนินการด้านเภสัชศาสตรศึกษาระหว่างคณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์
3. เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านเภสัชศาสตรศึกษา และร่วมอภิปราย แลกเปลี่ยนมุมมองผลงานวิจัยในกลุ่มคณาจารย์เภสัชศาสตร์
คำสำคัญ