การประชุมวิชาการ
ประชุมวิชาการพัฒนาองค์ความรู้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อการรักษาอย่างปลอดภัย และพัฒนาระบบการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ
ชื่อการประชุม ประชุมวิชาการพัฒนาองค์ความรู้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อการรักษาอย่างปลอดภัย และพัฒนาระบบการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
รหัสกิจกรรม 1009-2-000-003-02-2566
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมอัลวาเรซ จังหวัดบุรีรัมย์
วันที่จัดการประชุม 22 -23 ก.พ. 2566
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
กลุ่มเป้าหมาย บุคลากรทางการแพทย์
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 12 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์มีภารกิจหลัก ในการคุ้มครองและป้องกันเพื่อให้ประชาชนในจังหวัดบุรีรัมย์มีความปลอดภัยในการอุปโภคบริโภคผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ โดยการดูแลควบคุม กำกับ และติดตามเฝ้าระวังตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ สถานประกอบการ และการโฆษณา รวมทั้งผลอันไม่พึงประสงค์ของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพเหล่านั้นได้คุณภาพมาตรฐานและปลอดภัย ซึ่งการดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์ เป็นหนึ่งในภารกิจ ที่ต้องมีการควบคุม กำกับ และติดตามเฝ้าระวัง เริ่มตั้งแต่การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการใช้กัญชา ทางการแพทย์ การจัดบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ให้ได้มาตรฐานและผู้ป่วยเกิดความปลอดภัย ตลอดจน การติดตามเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้กัญชาทางการแพทย์
จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ พ.ศ. ๒๕๖๕ ระบุให้สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol; THC) ไม่เกินร้อยละ ๐.๒ โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ ไม่เป็นสารเสพติด ให้โทษ ซึ่งหมายรวมถึงส่วนประกอบต่างๆ จากพืชกัญชาก็จะไม่เป็นสารเสพติดให้โทษเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการนำกัญชามาเสพนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ทางการแพทย์
กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ จึงจัดทำโครงการประชุมวิชาการพัฒนาองค์ความรู้กัญชา ทางการแพทย์ เพื่อการรักษาอย่างปลอดภัย และพัฒนาระบบการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อส่งเสริมมาตรฐานการรักษาโดยใช้หลักการแพทย์เชิงประจักษ์ (evidence-based medicine) รวมถึงการให้การรักษาภาวะแทรกซ้อนและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากกัญชา เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ความเข้าใจด้านการใช้กัญชาทางการแพทย์ด้วยหลักฐานที่เชื่อถือได้ ตลอดจนมีความทันสมัย และเหมาะสมกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ในการดำเนินงานด้านการใช้กัญชาทางการแพทย์
2. เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ ความเข้าใจด้านการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่ทันสมัย
3. เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์ และส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัย
คำสำคัญ
กัญชา กัญชาทางการแพทย์
วิธีสมัครการประชุม
ติดต่อ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์