การประชุมวิชาการ
ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565
ชื่อการประชุม ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565
สถาบันหลัก สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)
รหัสกิจกรรม 2002-2-000-003-03-2566
สถานที่จัดการประชุม ห้องแกรนด์ฮอลล์ 203 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา
วันที่จัดการประชุม 12 มี.ค. 2566
ผู้จัดการประชุม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)
กลุ่มเป้าหมาย สมาชิกสมาคม เภสัชกรชุมชนที่สนใจ และนักศึกษาเภสัชศาสตร์
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
สมรรถนะเภสัชกรชุมชนในยุคใหม่ ยุคศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องมีสมรรถนะในหลายๆ ด้าน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เป็นสังคมผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บที่เปลี่ยนแปลงและเกิดอุบัติการณ์ใหม่ อย่างโรคโควิท-19 ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบร่างกายของผู้ป่วยทั้งในระยะสั้น และระยะยาว แนวทางการรักษาจึงมีการเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยตลอดเวลาและส่งผลให้เกิดแนวทางการใช้ยาเพื่อการรักษาโรค รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีการปรับเปลี่ยนและเกิดแนวทางใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

เภสัชกรชุมชนจึงควรมีการพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ในศาสตร์ทางด้านโรคและยาตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการโรค การใช้วิตามิน สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย มีผู้สูงวัยจำนวนมากที่มีการใช้วิตามินหรือผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพเพื่อฟื้นฟูร่างกาย เพื่อป้องกันโรคหรือป้องกันภาวะการณ์บางอย่าง หากเภสัชกรชุมชนมีความรู้ที่ถูกต้อง สามารถให้คำแนะนำ คำปรึกษาแก่คนในชุมชนได้ ก็จะนำพาให้คนในชุมชนนั้นแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บได้ อนึ่งโรคในระบบทางเดินอาหาร ปัจจุบันมีแนวทางใหม่ๆ ในการใช้ยาต้านซึมเศร้าบางชนิดเข้ามามีบทบาทบรรเทาอาการเพิ่มมากขึ้น เภสัชกรชุมชนจึงควรมีความรู้เท่าทันกับแนวทางการรักษาเช่นกัน

นอกจากนั้น ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เภสัชกรชุมชนจำเป็นต้องมีสมรรถนะในหลายๆ ด้าน นอกจากด้านการบริบาลเภสัชกรรมชุมชนแล้ว สมรรถนะด้านการจัดการบริหารร้านยาก็จำเป็นเพื่อให้ร้านยาของเภสัชกรชุมชนเองอยู่รอดในกระแสสังคมที่มีการแข่งขันกันสูง ซึ่งหนึ่งในศาสตร์การบริหารจัดการร้านยาที่จำเป็นคือเรื่องการจัดการด้านการเงิน หากแภสัชกรชุมชนสามารถจัดการได้ดี จะทำให้การบริหารร้านยาอยู่รอดและเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชนนั้นๆ ต่อไปได้อย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เภสัชกรมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินอาการ และความรุนแรงของโรคในระบบทางเดินอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ
2. เพื่อให้เภสัชกรมีความรู้ ความเข้าใจถึงบทบาทของยาต้านซึมเศร้าบางชนิด ต่อโรคในระบบทางเดินอาหาร
3. เพื่อให้เภสัชกรมีความรู้ ความสามารถในการใช้สมุนไพรร่วมในการดูแลผู้ป่วยได้
4. เพื่อให้เภสัชกรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้วิตามินอย่างถูกต้อง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยหรือผู้สูงวัยได้อย่างเหมาะสม
5. เพื่อให้เภสัชกรมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการบริหารร้านยาโดยเฉพาะเกี่ยวกับการจัดการการเงินเบื้องต้นสำหรับร้านยาได้
คำสำคัญ
โรคในระบบทางเดินอาหาร ยาต้านซึมเศร้า สมุนไพร วิตามิน สูงวัย
วิธีสมัครการประชุม
สมัครสมาชิกออนไลน์ www.pharcpa.com