การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 13 “Understanding Psychopharmacology of Affective Disorders to Improve Treatment Outcomes in the Post pandermic Era”
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 13 “Understanding Psychopharmacology of Affective Disorders to Improve Treatment Outcomes in the Post pandermic Era”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รหัสกิจกรรม 1004-2-000-019-10-2565
สถานที่จัดการประชุม โรงแรม แกรนด์วิว-แลนด์มาร์ค อ.เบตง จ.ยะลา
วันที่จัดการประชุม 29 ต.ค. 2565
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรทั่วไป
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 4.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 เป็นต้นมา ได้เกิดเหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคโควิค-19 ที่ส่งผลให้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป , New Norm ที่ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป การเข้ามาของคน Generation ใหม่ๆที่ได้นำเอาความคิดใหม่ๆ และวัฒนธรรมการทำงานรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาด้วย รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและเทรนด์ใหม่ๆ ที่ได้เข้ามา Disruption ธุรกิจบางแห่ง และเกิดการ Transformation ของบางองค์กร ผู้คนในสังคมจึงต้องมีการปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพ เท่าทันเทคโนโลยีและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องพัฒนาความรู้มีการคิดวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร ใช้สติปัญญาในการรับรู้ยอมรับความแตกต่างของบุคคล วัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย การใช้ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเท่าทันสถานการณ์ หากไม่สามารถควบคุมตนเอง และมีปฏิกริยาโต้ตอบที่ไม่รู้กาลเทศะ ไร้มารยาท ขาดความรับผิดชอบต่อการกระทําของตนก็ย่อมนําไปสู่การละเมิดสิทธิของผู้อื่น เกิดปัญหาทางสุขภาพจิต รวมถึงปัญหาทางกฎหมายที่อาจนําไปสู่ความเดือดร้อนของคนในสังคมวงกว้าง
สำหรับปัญหาทางสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวช จัดเป็นปัญหาทางสาธารณสุขในระดับนานาชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาทางสุขภาพจิต ได้มีการพัฒนาหน่วยงานให้บริการทางสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้มีการบรรจุดัชนีชี้วัดด้านสุขภาพจิตเข้าเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดด้านสาธารณสุขในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 5 ในปี พ.ศ. 2525 ในปัจจุบันประชากรไทยมีแนวโน้มเจ็บป่วยด้วยปัญหาทางจิตเวชและสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากรายงานการศึกษาสุขภาพจิตของประชากรไทยในปี 2557 ที่พบว่าปัญหาทางสุขภาพจิตของประชากรไทยที่พบบ่อยประกอบด้วย โรคจิต , โรควิตกกังวล , โรคซึมเศร้า , และผู้ติดสารเสพติด ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 25 , 19.22 , 11.14 และ 9.08 ของประชากร ตามลำดับ
จากข้อจำกัดด้านบุคลากรและทรัพยากรด้านสุขภาพจิตที่มีอยู่ในปัจจุบันทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับความช่วยเหลือและการรักษาด้านสุขภาพจิตมีสัดส่วนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราผู้มีปัญหาในประเทศดังจะเห็นได้จากรายงานของกรมสุขภาพจิต ในปี พ.ศ. 2557 พบว่ามีผู้ป่วยเข้ารับบริการทางจิตเวชและสุขภาพจิตทั้งสิ้น 1,674,388 ราย ซึ่งเทียบกับจำนวนประชากรในปีนั้น 65.4 ล้านคน คิดเป็นเพียงร้อยละ 2.56 ซึ่งยังคงต่ำกว่าจำนวนผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตที่สมควรได้รับการบริการการตรวจรักษา เภสัชกรซึ่งเป็นหนึ่งในทีมสหสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยา จึงมีส่วนสำคัญในการเฝ้าระวังและป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยา ลดปัญหาที่เกิดจากยา ดังนั้นความรู้และทักษะของเภสัชกรโรงพยาบาลในการบริบาลเภสัชกรรม ได้แก่ การติดตามและให้คำแนะนำด้านยารวมทั้งการดูแลสุขภาพอย่างทันท่วงที สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มประสิทธิผลการรักษาในผู้ป่วยจิตเวช รวมทั้งมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาทางสุขภาพในระยะยาวแก่ผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิต
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการให้บริบาลทางเภสัชกรรมสำหรับผู้ป่วยจิตเวชแก่เภสัชกรโรงพยาบาล
2. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการให้บริบาลทางเภสัชกรรมสำหรับผู้ป่วยจิตเวช
3. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเภสัชกรโรงพยาบาลให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการให้บริบาลทางเภสัชกรรมสำหรับผู้ป่วยจิตเวช สามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน
คำสำคัญ
Psychopharmacology, Psychiatric Disorder, Depression, Anxiety Disorder