การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนางานการให้บริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยวิกฤตสำหรับแหล่งฝึกปฏิบัติงานสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม
ชื่อการประชุม โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนางานการให้บริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยวิกฤตสำหรับแหล่งฝึกปฏิบัติงานสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รหัสกิจกรรม 1004-2-000-016-08-2565
สถานที่จัดการประชุม ห้องประชุม VDO Conference คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วันที่จัดการประชุม 29 -31 ส.ค. 2565
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรที่สนใจ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 18.25 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ผู้ป่วยวิกฤตเป็นผู้ป่วยที่มีสภาวะโรคที่รุนแรง และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ยาที่ใช้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้หลายๆชนิดเป็นยาที่มีความเสี่ยงสูง (high alert drug) การมีเภสัชกรเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลการใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้คาดว่าน่าจะช่วยลดปัญหาด้านยาได้ แต่การที่เภสัชกรจะปฏิบัติงานนี้ให้ได้ผลสมฤทธิ์นั้น ต้องอาศัยปัจจัยที่สำคัญทั้งหลายประการร่วมกัน โดยปัจจัยประการหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือความรู้ที่ทันสมัย จากเหตุผลข้างต้นเภสัชกรที่ทำหน้าที่ในสถานพยาบาลระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเภสัชกรที่ทำหน้าที่ให้บริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยวิกฤตและมีหน้าที่ในการเป็นอาจารย์พี่เลี้ยงให้กับนักศึกษาฝึกงานการให้บริบาลทางเภสัชกรรมจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต รวมถึงควรมีทักษะในการประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านเภสัชบำบัดในการดูแลการใช้ยาในผู้ป่วยเฉพาะรายเพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยจากการใช้ยา และมีศักยภาพในการดูแลนักศึกษาที่ฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพเภสัชกรรม
ในการนี้ สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก จึงได้จัดโครงการเพื่อเสริมความรู้พื้นฐานในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต ได้แก่ ความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิต การจำแนกความรุนแรงของผู้ป่วยวิกฤตโดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ยาและสารน้ำที่ใช้บ่อยในผู้ป่วยวิกฤต การจัดการภาวะผิดปกติที่พบบ่อยในผู้ป่วยวิกฤต เช่น ภาวะ shock การติดเชื้อ แนวการป้องกันและจัดการภาวะแทรกซ้อนที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยวิกฤต เป็นต้น รวมถึงพัฒนาทักษะในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องของแหล่งฝึกปฏิบัติงานและเภสัชกรที่มีความสนใจ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ทักษะและศักยภาพในการนำองค์ความรู้ใหม่ไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้บริการงานอย่างมีคุณภาพ สามารถดูแลนักศึกษาเภสัชศาสตร์ในการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพเภสัชกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนความเข้มแข็งในการทำงานวิจัยในหน่วยงานในอนาคต
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมมีความรู้พื้นฐานและสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
2. เพื่อพัฒนาเภสัชกรที่ปฏิบัติงานในสถานบริการสาธารณสุขให้มีความพร้อมสำหรับเป็นเภสัชกรพี่เลี้ยงในการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาเภสัชศาสตร์
คำสำคัญ
การให้บริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยวิกฤต