การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการระดับชาติประจำปี พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 11 เรื่อง "An Odyssey to Human Rabies Zero Death"
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการระดับชาติประจำปี พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 11 เรื่อง "An Odyssey to Human Rabies Zero Death"
สถาบันหลัก สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
รหัสกิจกรรม 5003-2-000-001-09-2565
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 22 -23 ก.ย. 2565
ผู้จัดการประชุม สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
กลุ่มเป้าหมาย แพทย์ เภสัชกร พยาบาล สัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีความเกี่ยวข้องในการควบคุมและให้การดูแลรักษาผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 9.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดเชื้อระบบประสาทจากสัตว์สู่คน มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นพาหะนำโรค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์จรจัดที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ และบางส่วนเป็นสัตว์เลี้ยงซึ่งมีความใกล้ชิดกับมนุษย์แต่ขาดการดูแลเอาใจใส่ในการให้วัคซีน และที่สำคัญ ในปัจจุบันโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ องค์การอนามัยโลกได้รายงานมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าทั่วโลกมากกว่า 55,000 รายต่อปี ในประเทศไทยถึงแม้ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้ามีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน (น้อยกว่า 10 รายต่อปี จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข) แต่พบมีอัตราผู้ถูกสุนัขกัดและสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศมากกว่า 400,000 รายต่อปี สูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไปเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้พบว่าบุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่งยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วยภายหลังสัมผัสโรค พิษสุนัขบ้า ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงไปจากเดิม ทำให้การรักษาผู้ถูกสัตว์กัดและการป้องกันโรค พิษสุนัขบ้าภายหลังสัมผัสโรคยังเป็นปัญหาที่พบบ่อยของแพทย์ในเวชปฏิบัติทั่วไป ดังนั้น สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นสถาบัน ที่มีพันธกิจหลักเกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า คือ การให้บริการทางคลินิก การวินิจฉัย การผลิตอิมมูโนโกลบุลิน การวิจัยพัฒนา การเผยแพร่ความรู้เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความเข้าใจในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ถูกสัตว์กัดและสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า อีกทั้งเพื่อเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณของสถาบัน สถานเสาวภา สภากาชาดไทย จึงได้จัดประชุมวิชาการระดับชาติเกี่ยวกับการดูแลผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าแก่บุคลากรทางการแพทย์ และ เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานมาอย่างต่อเนื่อง และในโอกาสเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี ของการก่อตั้งสถานเสาวภา ในวันที่ 7 ธันวาคม 2565 การจัดประชุมในครั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ปัจจุบันของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย สถานเสาวภากับบทบาทของการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แนวทางการดูแลผู้ป่วยภายหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าและความแตกต่างของแนวทางที่สถานเสาวภาใช้กับแนวทางที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ รวมทั้งปัญหา ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยภายหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า
นอกจากนี้เพื่อสอดคล้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สถานเสาวภาจึงจำกัดผู้เข้าร่วมประชุมในงานจำนวน 150 ท่าน และจะมีการจัดการบรรยายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทางเวบไซด์งานประชุมเพื่อเว้นระยะห่างทางกายภาพและลดการระบาดของไวรัส โดยผู้เข้าร่วมประชุมทางไกลสามารถเข้าฟังบรรยายงานประชุมผ่านสื่อออนไลน์พร้อมกันกับผู้เข้าอบรมในงาน รวมทั้งช่วยลดปัญหาค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องสูญเสียไปกับการเดินทางด้วย
วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้เรื่องการวินิจฉัยและแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าและการดูแลรักษาผู้ถูกสัตว์กัดและสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งแนวทางการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย
2.2 เพื่อให้ผู้เข้าอบรม ได้เกิดกระบวนการเรียนรู้และเข้าใจ เพื่อช่วยพัฒนาการให้วัคซีน อิมมูโนโกลบุลิน และการดูแลรักษาผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า
คำสำคัญ
โรคพิษสุนัขบ้า, การรักษา, วัคซีน, อิมมูโนโกลบูลิน
วิธีสมัครการประชุม
ค่าลงทะเบียน 1. สำหรับการลงทะเบียนเพื่อร่วมประชุมในงาน (on-site conference) - ลงทะเบียนภายในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2565 อัตราท่านละ 2,500 บาท - ลงทะเบียนหลังวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2565 อัตราท่านละ 3,000 บาท ราคานี้รวมอาหารกลางวัน 2 มื้อ อาหารว่าง 3 มื้อ กระเป๋างานประชุม และสามารถเข้าชมเนื้อหาการประชุมย้อนหลังผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกหัวข้อ จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2565 2. สำหรับการลงทะเบียนเพื่อร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (online conference) - อัตราท่านละ 1,000 บาท สามารถเข้าฟังเนื้อหาการประชุมแบบถ่ายทอดสดและย้อนหลังผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกหัวข้อ จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2565