การประชุมวิชาการ
ประชุมวิชาการ โครงการพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักอนามัย กิจกรรมที่ 1 ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ชื่อการประชุม ประชุมวิชาการ โครงการพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักอนามัย กิจกรรมที่ 1 ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
สถาบันหลัก มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน
รหัสกิจกรรม 5004-2-000-008-08-2565
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมใบหยกสกาย ถนนราชปรารภ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 08 ส.ค. 2565
ผู้จัดการประชุม มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรและพยาบาลวิชาชีพ , เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ จำนวนประมาณ 125 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 4 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
จากแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2565 มิติที่ 1.5 ปลอดโรคคนเมือง อาหารปลอดภัย เป้าหมายที่ 1.5.1 คนกรุงเทพฯ มีสุขภาวะทางกายและจิต มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ไม่มีภาวะเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และโรคจากการประกอบอาชีพ ปัจจุบันประชาชนให้ความสนใจเรื่องการดูแลสุขภาพและมีการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพมีความหลากหลายมากขึ้น ตลอดจนการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพมีความสะดวกเข้าถึงได้มากขึ้น ทำให้ประชาชนอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่ปลอดภัยจากพฤติกรรมการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่เหมาะสม
กองเภสัชกรรม ได้มีการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในการดำเนินงานเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชน ซึ่งได้มีการดำเนินกิจกรรมด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยการเผยแพร่ความรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพแก่เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและประชาชน พร้อมดำเนินกิจกรรมสำรวจปัญหาด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชน และให้ความรู้แก่ผู้บริโภคผ่านการสำรวจผลิตภัณฑ์สุขภาพในพื้นที่กรุงเทพมหานครและการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชนด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น ผลการสำรวจข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 368 ชุด พบว่า มีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยหรือผิดกฎหมาย จำนวน 114 รายการ (คิดเป็นร้อยละ 30.9) ประกอบด้วย ยาแผนโบราณหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร 50 รายการ (คิดเป็นร้อยละ 43.9) ยาชุด 27 รายการ (คิดเป็นร้อยละ 23.7) เครื่องสำอาง 22 รายการ (คิดเป็นร้อยละ 19.3) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 9 รายการ (คิดเป็นร้อยละ 7.9) และผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ 6 รายการ (คิดเป็นร้อยละ 5.2) จากผลการดำเนินการดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังขาดความรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงขาดครอบคลุมในการเข้าถึงบริการในการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ อีกทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดของการติดเชื้อโรคโควิด 19 ซึ่งเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ส่งผลให้ศูนย์บริการสาธารณสุขบางแห่ง มีข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพให้เกิดความครอบคลุมพื้นที่ที่รับผิดชอบ
ศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่เป็นที่พึ่งและอยู่ใกล้ชิดประชาชน มาเป็นระยะเวลานาน และมีเครือข่ายภาคประชาชน ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ที่ใกล้ชิดและได้รับความไว้วางใจจากประชาชน สามารถเข้าถึงและเผยแพร่ข้อมูลพร้อมให้การดูแลแก่ประชาชนได้ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามผู้ปฏิบัติงานของศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) รวมถึงกองเภสัชกรรม สำนักอนามัย ยังขาดความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ประกอบกับความรู้ ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
กองเภสัชกรรม สำนักอนามัย จึงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และเห็นควรจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงาน ของสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ให้มีความรู้ความสามารถในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเพื่อให้เกิดการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานของสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ให้มีความรู้ ความสามารถในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
2. เพื่อให้เกิดการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ
คำสำคัญ
คุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ , งานคุ้มครองผู้บริโภค
วิธีสมัครการประชุม
ผู้สนใจลงทะเบียนที่ : ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมผ่านแบบฟอร์มตอบรับการเข้าร่วมประชุม