การประชุมวิชาการ
การประชุมเชิงปฏิบัติการเภสัชกรรมคลินิก ครั้งที่ 31/2565 เรื่อง Basic excel and/or database เพื่อการจัดการขับเคลื่อนและแก้ปัญหาความเสี่ยงในระบบยาด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ รุ่นที่ 2
ชื่อการประชุม การประชุมเชิงปฏิบัติการเภสัชกรรมคลินิก ครั้งที่ 31/2565 เรื่อง Basic excel and/or database เพื่อการจัดการขับเคลื่อนและแก้ปัญหาความเสี่ยงในระบบยาด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ รุ่นที่ 2
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสกิจกรรม 1003-2-000-023-06-2565
สถานที่จัดการประชุม ณ โรงแรมวินทรี ซิตี้ รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่
วันที่จัดการประชุม 20 -24 มิ.ย. 2565
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกร ไม่เกิน 60 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 23 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
สถานการณ์ระบบยาของประเทศไทยต้องการข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศด้านยาที่ดี เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการและพัฒนาด้านสุขภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ช่วยปรับปรุง ระบบการทำงานทุกกระบวนการในระบบยาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หน่วยงานในระบบสุขภาพในประเทศไทยได้เริ่มมีการประยุกต์ใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว

องค์กรด้านสุขภาพต้องสร้างความมั่นใจในระบบการจัดการด้านยาที่ปลอดภัย เหมาะสม และได้ผล พร้อมทั้งการมียาที่มีคุณภาพสูงพร้อมใช้สำหรับผู้ป่วย ตั้งแต่การวางแผน ทรัพยากร และการจัดการประเมินและปรับปรุงระบบบริหารจัดการ ด้านยาเปรียบเทียบกับเป้าประสงค์ของระบบ การเก็บและสํารองยา รูปแบบหรือระบบต่าง ๆ ที่อาจจะแตกต่างไปตามบริบทของแต่ละโรงพยาบาล

ระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (HIS, Hospital Information Systems) เป็นหนึ่งในระบบการจัดการโรงพยาบาล (Hospital Management System, HMS) ที่ช่วยในการจัดเก็บ จัดการ และส่งต่อข้อมูลจำนวนมากทั้งจากภายในและภายนอกโรงพยาบาล ให้ผู้บริหารสามารถจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ของโรงพยาบาลได้อย่างคุ้มค่า เพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานและการรักษาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว และทันสมัย

ข้อมูล (Data) ทั้งหมดภายในระบบสารสนเทศโรงพยาบาลถูกจัดเก็บเอาไว้ในระบบ เช่น ข้อมูลประวัติผู้ป่วย ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการ ข้อมูลเกี่ยวกับยา เป็นต้น การบริหารข้อมูลจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการลงบันทึก การจัดเก็บข้อมูล หรือสรุปรายงาน เป็นงานที่ใช้เวลาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีการบันทึกและใช้งานข้อมูลจำนวนมาก วิธีการบันทึกข้อมูลแบบดั้งเดิมหรือ Manual ก็ทำให้มีโอกาสเกิดความผิดพลาดของการจัดการข้อมูลเกิดขึ้น รวมไปถึงการทำงานร่วมกันภายในองค์กรก็จะเป็นไปอย่างล่าช้า ปัญหาที่พบคือมาตรฐานด้านข้อมูลยาต่าง ๆ และการออกแบบระบบข้อมูลร่วมกันเพื่อช่วยให้สามารถสื่อสารตรงกัน เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนได้อย่างไร้รอยต่อ ลดความซ้ำซ้อนและภาระงานในการเก็บและ clean ข้อมูล ใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาเภสัชกรจึงมีความจำเป็นทั้งจำนวน ความรู้ และทักษะที่เกี่ยวข้องกับระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพและระบบยา

การประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติการนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เภสัชกรเข้าใจหลักการพื้นฐานด้านสารสนเทศศาสตร์ และพัฒนาทักษะด้านสารสนเทศศาสตร์ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ด้วยโปรแกรมในชุด Microsoft Office ที่มีความสามารถในด้านการสร้างตาราง การคำนวณ การวิเคราะห์
การออกรายงานในรูปแบบตารางและกราฟ เพื่อวางแผนในการปฏิบัติงาน สำหรับพัฒนาวิธีการรักษาผู้ป่วยให้รวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้าประชุมสามารถออกแบบฐานข้อมูล เพื่อใช้จัดเก็บข้อมูลตามขอบเขตของปัญหาได้
2. เพื่อให้ผู้เข้าประชุมได้เรียนรู้การใช้ excel เพื่อจัดการข้อมูลเพื่อนำเสนอการแก้ไขและพัฒนาการทำงาน จากชุดข้อมูลจริง
คำสำคัญ
basic excel, database, การจัดการขับเคลื่อนและแก้ปัญหาความเสี่ยงในระบบยาด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ
วิธีสมัครการประชุม
ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครเข้าร่วมงานประชุมได้ที่ https://cpe.pharmacy.cmu.ac.th/