ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่ง sms และ email แจ้งเตือนสมาชิกผู้ที่มีหน่วยกิตไม่ครบเกณฑ์ ครั้งต่อไปในวันที่ 11 กรกฎาคม 2568

การประชุมวิชาการ
Knee Osteoarthritis Solutions, Stepwise step by step
ชื่อการประชุม Knee Osteoarthritis Solutions, Stepwise step by step
สถาบันหลัก สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)
รหัสกิจกรรม 2002-2-000-014-07-2565
สถานที่จัดการประชุม ออนไลน์
วันที่จัดการประชุม 31 ก.ค. 2565
ผู้จัดการประชุม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)
กลุ่มเป้าหมาย สมาชิกสมาคมเภสัชกรรมชุมชนและ เภสัชกรชุมชนที่สนใจ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 1 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันโรคข้อเข่าเสื่อมส่งผลต่อประชากรของโลกประมาณ 4 % และได้รับการยอมรับว่าเป็นสาเหตุของภาวะทุพพลภาพทั่วโลกสูงสุดเป็นอันดับที่ 11 (Cross M, Smith E, Hoy D, et al. The global burden of hip and knee osteoarthritis: estimates from the global burden of disease 2010 study. Ann Rheum Dis. 2014; 73 (7): 1323-1330.) และเนื่องจากความชุกของโรคเพิ่มขึ้นตามอายุ จึงมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 ความชุกของ OA จะเพิ่มขึ้นเป็น
14 % ส่งผลต่อผู้คนเกือบ 360 ล้านคนทั่วโลก (Datamonitor Healthcare; GBD, 2017; United Nations, 2017)

โรคกระดูกและข้อเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ เนื่องจากอุบัติการณ์ของโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสถิติผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อในคนไทย พ.ศ. 2553 พบว่ามีผู้ป่วยโรคนี้มากกว่า 6 ล้านคนโดยข้อที่เสื่อมมากที่สุด คือ ข้อเข่า (Pereiraet al., 2011) เนื่องจากข้อเข่าเป็นข้อที่มีขนาดใหญ่และต้องรับน้ำหนักของร่างกายโดยตรง ทั้งยังต้องทำหน้าที่เคลื่อนไหวเกือบตลอดเวลา ทำให้ข้อเสื่อมได้ง่าย โรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis of Knee) เป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ (Adult and elderly group) เป็นปัญหาสำคัญของระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยเนื่องจากเป็นโรคข้อที่พบบ่อยที่สุด เป็น 1 ใน 10 โรคที่เป็นสาเหตุสำคัญอันก่อให้เกิดความทุพพลภาพในผู้สูงอายุ (ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย, 2554) อีกทั้งมีผลกระทบสูงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว
โรคข้อเข่าเสื่อม หรือ osteoarthritis of knee คือโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมของข้อเข่า ตำแหน่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในโรคนี้ คือที่กระดูกอ่อนผิวข้อ (articular cartilage) ในข้อชนิดที่มีเยื่อบุ (diarthrodial joint) โดยพบการทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อซึ่งเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ อย่างต่อเนื่องตามเวลาที่ผ่านไป กระดูกอ่อนผิวข้อมีการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี (biochemical) ชีวกลศาสตร์ (biomechanical) และโครงสร้าง (biomorphology) รวมถึงกระดูกบริเวณใกล้เคียง เช่น ขอบกระดูกในข้อ (subchondral bone) หนาตัวขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงของน้ำไขข้อทำให้คุณสมบัติการหล่อลื่นลดลง โรคนี้ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ มีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญ คือ ปวดข้อ ข้อฝืด มีปุ่มกระดูกงอกบริเวณข้อ การทำงานของข้อเสียไป การเคลื่อนไหวลดลง หากขบวนการนี้ดำเนินต่อไปจะมีผลทำให้ข้อผิดรูปและพิการในที่สุด (แนวทางเวชปฏิบัติการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม, สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2553)

ดังนั้น การดูแลโรคข้อเข่าเสื่อมตั้งแต่เริ่มต้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เภสัชกรควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพื่อที่จะสามารถให้ความรู้แก่ประชาชนได้ โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาเรื่องการดูแลและการเลือกใช้ยาในการรักษา เพื่อลดหรือป้องกันอาการข้อเข่าเสื่อมที่เกิดขึ้น เพราะโรคข้อเข่าเสื่อม หากเราดูแลให้ถูกวิธีตั้งแต่เริ่มรู้อาการ ก็จะสามารถช่วยยืดอายุของข้อเข่าให้อยู่กับเราไปได้นานขึ้น รวมถึงช่วยชะลอความเสื่อมของข้อ และการดำเนินไปของโรคได้อีกด้วย ดังนั้นเภสัชกรจึงควรมีความรู้ที่ทันสมัยในเรื่องการดูแลโรคข้อเข่าเสื่อมตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อที่จะสามารถเลือกยาทางเลือกต่าง ๆ ที่ช่วยในการรักษาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงให้คำปรึกษาแก่ประชาชนในการดูแลตนเองและคนในครอบครัวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้เภสัชกรมีความเข้าใจเกี่ยวกับอาการและอาการแสดงของโรคข้อเข่าเสื่อม
2. เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้เภสัชกรทราบแนวทางการรักษาอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม รวมถึง Guideline ต่าง ๆ
ที่แนะนำเกี่ยวกับแนวทางการรักษาข้อเสื่อม
3. ทราบถึงสัญญาณอันตราย (Alarm Symptoms) ที่ควรส่งต่อผู้ป่วยไปพบแพทย์
4. เพื่อให้เภสัชกรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพในการรักษาอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
คำสำคัญ
แนวทางการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า, การชะลอข้อเข่าเสื่อม
วิธีสมัครการประชุม
https://zoom.us/webinar/register/WN_ziFqbNrVS-KvNUGgFKL0qw