การประชุมวิชาการ
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการร้านขายยา ประจำปี พ.ศ. 2565
ชื่อการประชุม โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการร้านขายยา ประจำปี พ.ศ. 2565
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
รหัสกิจกรรม 1010-2-000-007-04-2565
สถานที่จัดการประชุม ณ ห้องทับทิมสยาม 4 ชั้น 5 โรงแรมสุนีย์ แกรนด์ โฮเทล แอน คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์
วันที่จัดการประชุม 27 เม.ย. 2565
ผู้จัดการประชุม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 150 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 7 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ร้านขายยาเป็นหนึ่งในระบบสุขภาพที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ในการกระจายยาเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นที่พึ่งทางด้านสุขภาพของชุมชน เป็นทางเลือกหนึ่ง ของประชาชนในการเข้ารับบริการเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น นอกจากนี้ ร้านขายยายังเป็นแหล่งให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ การแนะนำและส่งต่อไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามความเหมาะสม ถือเป็น ส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุข ประชาชนจึงเข้าถึงบริการได้ง่าย ประกอบกับร้านยาเป็นหน่วยหนึ่ง ในภาคเอกชน การบริหารจัดการหรือการดำเนินการต่างๆ จึงสามารถช่วยประหยัดงบประมาณการคลังของรัฐในการดูแลสุขภาพของประชาชนซึ่งมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอดได้
ร้านขายยาถือเป็นธุรกิจหนึ่งในธุรกิจทางด้านการแพทย์และสุขภาพที่มีการแข่งขันสูง และกำลังเติบโตต้อนรับสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน จากปริมาณร้านยาที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการตรวจพบการกระทำผิดมากขึ้นจากสถิติของสภาเภสัชกรรม พบการกระทำผิดของเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ จำนวนคดี และความรุนแรงในการลงโทษมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่ในห้วงวันที่ 4 - 21 มกราคม 2565 ที่ผ่านมากองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานกวาดล้างจับกุมร้านขายยา ที่ไม่ได้รับอนุญาต และได้รับอนุญาต ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระดมตรวจค้นร้านขายยาทั่วประเทศ สามารถจับกุมร้านขายยาที่ทำผิดกฎหมาย 127 ราย พร้อมยึดของกลางที่เกี่ยวข้องกว่า 359 รายการ โดยมีที่มาจากการได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก และได้รับการประสานงานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ขายยานอนหลับ ขายยาชุด ขายยาแก้แพ้แก้ไอ ขายยาเขียวเหลืองและการขายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษโดยมิใช่เภสัชกร ในพื้นที่หลายจังหวัด โดยพฤติการณ์ ใช้พนักงานขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกรซึ่งขาดความรู้ความเข้าใจในสรรพคุณ ข้อบ่งใช้และข้อพึงระวังในการขายยา อีกทั้งยังพบของกลางวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ยาปลอม ยาอันตราย และยาควบคุมพิเศษเป็นจำนวนมาก ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537
ภายในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ครบกำหนดผ่อนผันตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 ที่ให้ร้านขายยาทุกประเภทปฏิบัติได้ตามหลักวิธีปฏิบัติทาง เภสัชกรรมชุมชน หรือ จี พี พี (Good Pharmacy Practice : GPP) ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการยกระดับคุณภาพของร้านขายยาให้มี “ระบบคุณภาพ” ตามแนวทางสากล โดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนาที่โครงสร้างพื้นฐานด้านอาคารสถานที่และอุปกรณ์ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วตามบันไดขั้นที่หนึ่งในปี พ.ศ.2561 และ ณ สิ้นปี 2565 นี้จะเป็นการประเมินในส่วนที่เหลือทั้งหมด ของ GPP ได้แก่ บุคลากร การควบคุมคุณภาพยาและเภสัชกรที่จะเป็นผู้ปฏิบัติตามหลัก GPP ข้างต้นให้เกิดขึ้นในร้านยาได้อย่างสมบูรณ์ GPP นี้จะช่วยให้ผู้มารับบริการเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ มีผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการที่คอยควบคุมระบบคุณภาพ รวมถึงมีสภาวะการจัดเก็บยาที่เหมาะสมเพื่อส่งมอบให้ผู้มารับบริการได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัย ดังนั้น การกำกับดูแลและตรวจสอบเฝ้าระวังร้านขายยาที่ได้รับอนุญาต ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด จึงเป็นเป้าหมายสูงสุด ที่จะตอบสนองสิทธิของผู้มารับบริการจากร้านยาที่จะได้รับบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัยตามมาตรฐานวิชาชีพ ส่งเสริมความปลอดภัยด้านยา และนำไปสู่สุขภาวะที่ดีของประชาชน โดยมีร้านยาเป็น ที่พึ่งด้านสุขภาพใกล้บ้าน ซึ่งกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวคือ ความร่วมมือระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและผู้รับอนุญาตขายยา เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาร้านขายยาที่ได้รับอนุญาต ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ได้มาตรฐาน และปลอดภัยต่อผู้รับบริการ
2. เพื่อร่วมกันหาแนวทางการพัฒนาร้านยาให้ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ควบคุมกำกับร้านยาตามกฎหมาย กับผู้รับอนุญาตร้านขายยา และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ
3. เพื่อร่วมกันหามาตรการในการควบคุมกำกับ และป้องปราม การกระทำเสี่ยงฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งในร้านขายยา และสถานประกอบการอื่น เช่น ร้านค้า ร้านชำ
4. สร้างความเข้มแข็งให้ร้านยาและเกิดเครือข่ายความร่วมมือระดับจังหวัด
คำสำคัญ