การประชุมวิชาการ
อบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง: การพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรเชิงพาณิชย์ ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy)
ชื่อการประชุม อบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง: การพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรเชิงพาณิชย์ ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
รหัสกิจกรรม 1010-2-000-006-05-2565
สถานที่จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
วันที่จัดการประชุม 17 พ.ค. 2565 - 27 ก.ค. 2565
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
กลุ่มเป้าหมาย นักศึกษารุ่นปัจจุบัน บัณฑิตจบใหม่ เกษตรกร ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 28 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตไทยตามกรอบยุทธศาสตร์แห่งชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ในการพัฒนาภาคการผลิตและพัฒนาผู้ประกอบการและเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาทักษะผู้ประกอบการ เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า BCG Economy Model ซึ่งจะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงจากฐานเกษตรกรรมและฐานทรัพยากรชีวภาพภายในประเทศ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสำคัญด้านการผลิต และการค้าสินค้าเกษตรในเวทีโลกด้วยพื้นฐานทางพืชเกษตรเขตร้อน และมีข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่สามารถพัฒนาต่อยอดโครงสร้างธุรกิจการเกษตรด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นเกษตรคุณภาพสูง และขับเคลื่อนการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม นำไปสู่การผลิต แปรรูป และพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากฐานเกษตรกรรมและฐานทรัพยากรชีวภาพ และสร้างความมั่นคงของประเทศทั้งด้านอาหาร และสุขภาพ โดยเฉพาะพืชสมุนไพร ที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรในระดับภูมิภาคและระดับโลก
การสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตไทยตามกรอบยุทธศาสตร์แห่งชาติในการพัฒนาภาคการผลิตและพัฒนาผู้ประกอบการและเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาทักษะผู้ประกอบการ โดยการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและการวางแผนเพื่อเพิ่มการแข่งขันทางการตลาดของผลิตภัณฑ์แปรรูปการเกษตร นับเป็นการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรไทย ที่เกิดจากการจำหน่ายวัตุดิบการเกษตรในรูปแบบเดิม ได้แก่ การจำหน่ายวัตถุดิบเกษตรที่ไม่ผ่านการแปรรูป ซึ่งมักพบปัญหาราคาที่ตกต่ำจากผลผลิตที่ล้นตลาดเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว รวมถึงขาดการวางแผนทางการตลาดที่เป็นรูปธรรม การแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรในรูปแบบสารสกัดที่ผ่านการควบคุมมาตรฐานคุณภาพ เป็นวิธีการที่สามารถยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตรให้กับเกษตรกร หรือผู้ประกอบการรายย่อย ลดปัญหาราคาสินค้าตกต่ำจากผลผลิตล้นตลาดในฤดูเก็บเกี่ยว อีกทั้งยังเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพซึ่งจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบในรูปแบบสารสกัดที่ผ่านการวิเคราะห์คุณภาพ การแปรรูปวัตถุดิบการเกษตรในรูปแบบสารสกัด และการควบคุมคุณภาพสารสกัดให้ได้มาตรฐานจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้และทักษะวิชาการทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นเกษตรกร หรือผู้ประกอบการจึงต้องมีความรู้และทักษะในการแปรรูปสารสกัดที่มีคุณภาพ รวมถึงการวางแผนทางการตลาดที่เหมาะสม จึงจะสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าและเพิ่มรายได้ของเกษตรกรได้
การสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์การเกษตร นอกจากสามารถทำได้ในรูปแบบการแปรรูปสารสกัด ยังสามารถนำมาต่อยอดในการผลิตเภสัชภัณฑ์ และเครื่องสำอางที่มาจากสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญที่ของ Bio economy ที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าการเกษตรและสมุนไพรได้อย่างมาก และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทั้งในตลาดภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงเป็นการกระจายโอกาส และกระจายรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างครบวงจร จากต้นน้ำคือเกษตรกร ผู้ประกอบการผู้ผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ไปจนถึงผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ หากแต่เกษตรกรและผู้ประกอบการจำเป็นต้องได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ และพื้นฐานงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย รวมถึงการมีเครือข่ายพี่เลี้ยงจากสถานประกอบการที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและแปรรูปสินค้าการเกษตรและสมุนไพรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นคณะวิชาที่มีความเชี่ยวชาญในด้านความรู้และเทคโนโลยีในการแปรรูปวัตถุดิบการเกษตรในรูปแบบสารสกัด การควบคุมคุณภาพสารสกัด การผลิตยาและเภสัชภัณฑ์ เครื่องสำอาง ตลอดจนชีวภัณฑ์ และมีทุนความรู้และฐานงานวิจัยด้านสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการต่าง ๆ และมีนโยบายการดำเนินงานโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้ความเชี่ยวชาญของคณาจารย์และบุคลากรของคณะ โดยมีแนวคิดในการจัดกิจกรรมในรูปแบบบูรณาการการเรียนการสอนและการบริการวิชาการทั้งนี้เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ที่จะต้องนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งตามกรอบแนวคิดของยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันนั้นมุ่งหวังในการยกระดับศักยภาพในหลากหลายมิติ เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น
ดังนั้น คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงมีเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวในการที่จะดำเนินโครงการเพื่อเป็นหลักในการพัฒนาเพื่อยกระดับการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างผู้ผลิตและผู้ประกอบการ ในด้านเทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ สารสกัด และเครื่องสำอางจากสมุนไพร และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีแผนการดำเนินการในส่วนของจัดหลักสูตรอบรมระยะสั้น “เทคโนโลยีการผลิต
ชีวภัณฑ์ เครื่องสำอาง และสารสกัด” และพัฒนาระบบนิเวศแวดล้อมเพื่อการพัฒนาการยกระดับการผลิตชีวภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ และเครื่องสำอาง จากสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ รวมทั้งการฝึกอบรมในสถานประกอบการของภาครัฐและเอกชน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ทั้งทักษะการแปรรูปสารสกัด การผลิตชีวภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ เครื่องสำอาง และสารสกัดสมุนไพร ตลอดจนการวางแผนทางการตลาด เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา บุคลากร ผู้ประกอบการและผู้สนใจในการเรียนรู้และศึกษารายละเอียดด้านเทคโนโลยีการผลิต นวัตกรรมการผลิต ตลอดจนการศึกษาความต้องการตลาด และการพัฒนาเภสัชภัณฑ์ สารสกัด และเครื่องสำอาง โดยโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานประกอบการยุคใหม่ ให้มีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้น แก้ไขปัญหามูลค่าสินค้าเกษตร นำไปสู่การการยกระดับรายได้และการกินดีอยู่ดี รวมถึงการเพิ่มขึ้นของคนชั้นกลางและลดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศได้ในคราวเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดโลกให้สูงขึ้น
วัตถุประสงค์
1.เพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์ เครื่องสำอาง และสารสกัดเพื่อยกระดับการผลิตเภสัชภัณฑ์ และเครื่องสำอางจากสมุนไพร และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
2.เพื่อพัฒนานักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่สู่การเป็นผู้ประกอบการด้านการผลิตเภสัชภัณฑ์ สารสกัด และเครื่องสำอางจากสมุนไพร และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
3.เพื่อการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสถานประกอบการที่มีศักยภาพทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อรองรับการสร้างเกษตรกร และผู้ประกอบการที่สามารถยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ ให้แก่ ผู้ประกอบการ และบุคลากร
4.เพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการที่พร้อมเป็นศูนย์เชี่ยวชาญสำหรับการเรียนรู้และฝึกทักษะเพื่อการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีคุณภาพ
คำสำคัญ
BCG Economy Model Bio Economy
วิธีสมัครการประชุม
ลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSfqVNaewQdiWbhQ6bkBGgKjHC5M692tm3nLy1l_IQLKmBzX2g/viewform?fbclid=IwAR0JMuK6my2I4ykVTHyX8sNlsTvxnyQQer06a-eYwR8C9QUpE3ScOSr4m04 สอบถามข้อมูลเพิมเติม โทร. 045-353603 คุณดารุณี นามห่อ