การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการออนไลน์ “เรื่องไม่ลับของ “น้องสาว” และการป้องกันการตั้งครรภ์ ไม่พึงประสงค์”
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการออนไลน์ “เรื่องไม่ลับของ “น้องสาว” และการป้องกันการตั้งครรภ์ ไม่พึงประสงค์”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
รหัสกิจกรรม 1013-2-000-021-11-2564
สถานที่จัดการประชุม ออนไลน์
วันที่จัดการประชุม 28 พ.ย. 2564
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรร้านขายยาที่สนใจจำนวน 150-300 ท่าน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 1.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
พฤติกรรมการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องสุขอนามัยจุดซ่อนเร้นของผู้หญิงแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายแง่มุม เป็นต้นว่า ความนิยมชมชอบส่วนบุคคล บรรทัดฐานทางวัฒนธรรม หลักปฏิบัติทางศาสนา และข้อบ่งชี้ทางการแพทย์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม การรับเอาพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องสุขภาพของทั่วทั้งบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์สตรีและช่องคลอด ควบคู่ไปกับการป้องกันหรือลดอาการไม่พึงปรารถนาที่หลากหลาย (เช่น สีผิวเปลี่ยน เกิดรอยโรค แสบร้อน คัน แผลปริและเจ็บในระหว่างมีเพศสัมพันธ์) โดยมีรายงานว่า 1 ใน 5 ของสตรีจะมีปัญหา รบกวนทางปากช่องคลอดค่อนข้างมากเป็นเวลาติดต่อกันนานกว่า 3 เดือนในช่วงหนึ่งของชีวิต เช่น คัน และ/หรือแสบร้อนหรือเจ็บปวดกะทันหัน เมื่อสัมผัสกับบริเวณช่องคลอด
รวมถึงผิวหนังบริเวณปากช่องคลอดมีความแตกต่างไปจากผิวหนังที่ตำแหน่งอื่น ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ความชุ่มชื้น การเสียดสี การระบายน้ำและการระคายเคืองที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ผิวบริเวณปากช่องคลอดยังมีความเปราะบางหรืออ่อนแอต่อยาทาชนิดต่าง ๆ มากกว่าผิวหนังที่ตำแหน่งอื่น ๆ และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือลักษณะผิวจุดซ่อนเร้นของผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามในแต่ละช่วงของชีวิต นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการดูแลสุขอนามัยจุดซ่อนเร้นของผู้หญิงจึงเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้หญิงแต่ละคน (ไม่สามารถใช้หลักการแบบเหมารวมได้กับทุกคน) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของผิวจุดซ่อนเร้น ความจำเป็นและอายุของผู้หญิงแต่ละคน
จากสถิติขององค์การอนามัยโลกพบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์กว่า 33 ล้านคนต่อปี สาเหตุหลักเกิดจากปัญหา การคุมกำเนิดที่ผิดพลาด ไม่มีความรู้ ดังนั้นการส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) และสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญให้เกิดการวางแผนครอบครัวที่ถูกต้องและมีคุณภาพ
สถานการณ์การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือท้องไม่พร้อมในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นยังเป็นปัญหาที่น่าวิตกและจำเป็นต้องมีการรณรงค์ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้มีการเกิดอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้เกิดการวางแผนครอบครัวอย่างยั่งยืนในสังคมไทย โดยข้อมูลจากกรมอนามัย พบว่า ในปี 2562 สถิติการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อายุ 15-19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 169 คน โดยมีวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 6 คน เปรียบเทียบกับ ปี 2543 พบว่าวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 240 คน และในอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรวันละ 4 คน ทั้งนี้ในปี 2562 พบว่า จำนวนหญิงคลอดอายุต่ำกว่า 20 ปี มีอยู่ 63,831 ราย โดยแยกหญิงคลอดอายุระหว่าง
15-19 ปี มีจำนวน 61,651 ราย หญิงคลอดอายุต่ำกว่า 15 ปี มีจำนวน 2,180 ราย และยังพบว่าหญิงตั้งครรภ์ซ้ำและคลอดอายุต่ำกว่า 20 ปี มีถึง 5,222 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.2 (กรมอนามัย, สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ ปี 2563)
ทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้เล็งเห็นว่าอาชีพเภสัชกรเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญต่อการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ตลอดจนให้คำแนะนำ คำปรึกษา เกี่ยวกับการปฏิบัติตัว ทางเลือกในการให้การรักษาทั้งการใช้ยา และไม่ใช้ยา รวมถึงเป็นด่านหน้าที่สามารถให้คำปรึกษา ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสุขอนามัยจุดซ่อนเร้น รวมถึงมีส่วนช่วยในการให้คำปรึกษาที่ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การคัดกรองและส่งต่อปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ จึงได้จัดการประชุมวิชาการออนไลน์ขึ้น ในหัวข้อเรื่อง “เรื่องไม่ลับของ “น้องสาว” และการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์” เพื่อให้เภสัชกรได้เพิ่มพูนความรู้และทักษะทางวิชาชีพในประเด็นดังกล่าว
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เข้าใจถึงคำจำกัดความ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ปัจจัยที่ส่งผลต่อจำนวนการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การคุมกำเนิดวิธีการต่าง ๆ โรคที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์สตรีและช่องคลอด การดูแลสุขอนามัย จุดซ่อนเร้นที่ถูกวิธี เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและลดอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ
2. ทราบถึงแนวทางการรักษาทั้งแบบที่ใช้ยา และไม่ใช้ยา เพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม
3. สามารถให้คำแนะนำ คำปรึกษา เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวสำหรับการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และการดูแลจุดซ่อนเร้นให้แก่ประชาชนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
คำสำคัญ
การดูแลจุดซ่อนเร้น, ปัญหาตกขาว, ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น, การป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์, ยาคุมฉุกเฉิน