การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเภสัชกรรม เรื่อง “การคิดเชิงระบบในการจัดการเภสัชกรรม (Systems Thinking in Pharmacy Management)”
ชื่อการประชุม โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเภสัชกรรม เรื่อง “การคิดเชิงระบบในการจัดการเภสัชกรรม (Systems Thinking in Pharmacy Management)”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รหัสกิจกรรม 1005-2-000-001-03-2565
สถานที่จัดการประชุม ณ โรงแรมในจังหวัดขอนแก่น / คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันที่จัดการประชุม 28 มี.ค. 2565 - 31 พ.ค. 2565
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรจากกระทรวงสาธารณสุข คณาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และศิษย์เก่าคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวนประมาณ 50 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 15.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
สังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ปัญหาหลายอย่างเป็นปัญหาที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า การรับมือกับสิ่งเหล่านี้ให้ได้ผลดีนั้น ไม่สามารถใช้แนวคิดหรือมุมมองอย่างเป็นเส้นตรงได้ หลายครั้งที่ความพยายามในการแก้ปัญหาหนึ่งกลับก่อให้เกิดอีกปัญหาหนึ่ง จนถึงกับมีการกล่าวว่า “วิธีการแก้ปัญหาในปัจจุบัน คือปัญหาในอนาคต”
ปีเตอร์ เอ็ม เซงเก้ (Peter M. Senge) เจ้าพ่อองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้บัญญัติวินัย หรือวิชา 5 ประการสำหรับองค์กรแห่งการเรียนรู้ขึ้น โดยหัวใจสำคัญคือ “การคิดเชิงระบบ” (Systems thinking) (มกราพันธุ์ จูฑะรสก, 2556) การคิดเชิงระบบ “เป็นการคิดแบบองค์รวมหรือภาพรวม โดยตระหนักถึงองค์ประกอบย่อยที่มีความสัมพันธ์ และมีหน้าที่ต่อเชื่อมกัน” (วีรวุธ มาฆะศิรานนท์ และ ณัฐพงศ์ เกษมาริศ, 2549) การคิดเชิงระบบ เป็นแนวคิดที่ใช้ในการรับมือกับความซับซ้อน และความเปลี่ยนแปลง เป็นการคิดแบบเชื่อมโยง ช่วยให้เห็นภาพรวม เห็นป่าทั้งป่า ช่วยให้สังเคราะห์และมองเห็นปฏิสัมพันธ์ต่างๆขององค์ประกอบในระบบได้
การจัดการเภสัชกรรมเป็นระบบย่อยระบบหนึ่งในระบบบริการสุขภาพ ย่อมหนีไม่พ้นไปจากความซับซ้อนอันเนื่องมาจากการมีปฏิสัมพันธ์กับระบบอื่น เภสัชกรมีส่วนสำคัญในการจัดการระบบให้สามารถตอบสนองเป้าหมายในการดูแลการใช้ยาของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาเภสัชกรให้มีแนวคิด และทักษะการคิดเชิงระบบ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินงานและพัฒนาการจัดการเภสัชกรรมในอนาคต
หากมีเครื่องมือที่ช่วยให้คิดเชิงระบบได้มากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ฝึกฝนเป็นอย่างยิ่ง ในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ได้คัดเลือกเครื่องมือที่ใช้ง่ายและมีประโยชน์ต่อการทำงาน และการใช้ชีวิต ดังนี้
1. Causal loop diagram (CLD): เป็นแผนภาพที่ช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างองค์ประกอบต่างๆในระบบ ทำให้ผู้วิเคราะห์เข้าใจสถานการณ์ในเชิงลึก ซึ่งจะมีประโยชน์ในการออกแบบแผนการทำงานหรือแผนการแก้ปัญหาที่พบได้ดีมากขึ้น
2. โปรแกรม VENSIM เบื้องต้น เพื่อใช้ในการเขียน CLD ได้อย่างสวยงาม มีประโยชน์ต่อการนำเสนอความคิดหรือข้อสรุปที่มีต่อกลุ่มผู้ฟังหรือที่ประชุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. Stakeholder analysis: องค์ประกอบหนึ่งในระบบคือ “คน” งานหลายอย่างต้องประสานกับคนหลากหลาย งานหลายอย่างมีผลกระทบกับคนซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องไม่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นผลเชิงบวกหรือลบ หากต้องการเพิ่มโอกาสของความสำเร็จในการดำเนินงานแล้ว มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และออกแบบได้ว่าจะประสานกับผู้อื่นอย่างไร
4. Systemic question: เป็นการใช้คำถามที่พยายามมองหาความสัมพันธ์ระหว่างคนที่อยู่ในระบบเดียวกัน ช่วยให้ผู้วิเคราะห์หลุดจากกรอบคำว่า “คนอื่น” เข้าสู่กรอบคำว่า “เรา” มากขึ้น เนื่องจากเรา (รวมตัวผู้วิเคราะห์) ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนั่นเอง
5. A3 thinking: วงจรคุณภาพ PDCA เป็นที่ยอมรับและนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย A3 sheet เป็นกระดาษแผ่นเดียวที่ทรงพลัง สามารถนำไปใช้ได้จริง ช่วยให้เห็นภาพรวม ความสัมพันธ์เชื่อมโยงของเป้าหมาย และงานสำคัญที่ต้องทำ ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้อง และช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนาคุณภาพการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง
วัตถุประสงค์
1. มีความรู้ความเข้าใจถึง ความหมาย และแนวคิดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการคิดเชิงระบบ
2. พัฒนาทักษะเบื้องต้นในการใช้เครื่องมือคิดเชิงระบบในการจัดการเภสัชกรรม
คำสำคัญ
การคิดเชิงระบบ, การจัดการเภสัชกรรม, Systems Thinking, Pharmacy Management
วิธีสมัครการประชุม
Online