การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการชี้แจงแนวทางการจัดการและการเบิกจ่ายยาต้านพิษในสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ : การชี้แจงผ่านการประชุมทางไกลด้านพิษวิทยาคลินิกผ่านสื่อิเล็กทรอนิกส์ เรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะพิษด้วยยาต้านพิษและเซรุ่มต้านพิษงู 2
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการชี้แจงแนวทางการจัดการและการเบิกจ่ายยาต้านพิษในสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ : การชี้แจงผ่านการประชุมทางไกลด้านพิษวิทยาคลินิกผ่านสื่อิเล็กทรอนิกส์ เรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะพิษด้วยยาต้านพิษและเซรุ่มต้านพิษงู 2
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-2-000-014-07-2564
สถานที่จัดการประชุม ผ่านทางระบบออนไลน์ Webex
วันที่จัดการประชุม 20 ต.ค. 2564 - 05 พ.ย. 2564
ผู้จัดการประชุม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
กลุ่มเป้าหมาย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลยากำพร้า
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 8.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
สืบเนื่องจากการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการเพื่อปรับปรุงแนวทางการใช้ยากำพร้าและการประเมินผลการให้บริการยากำพร้าและยาต้านพิษปีงบประมาณ ๒๕๖๓” ซึ่งศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อจัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด้านพิษวิทยาคลินิกโดยมุ่งเน้นการให้การวินิจฉัย การดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษและถูกงูพิษกัด การเข้าถึงยาต้านพิษและเซรุ่มต้านพิษงู ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้รู้จักกับโครงการยาต้านพิษของประเทศไทย (National Antidote Programme)๑ ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพฯ นั้น ก่อนการจัดการอบรมได้สำรวจความคิดเห็นโดยสุ่มจากบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศจำนวน ๑๐๔ คน พบว่า ร้อยละ 72.1 ไม่เคยเข้าร่วมการประชุมหรืออบรมในโครงการยาต้านพิษเลย ในจำนวนนี้กลุ่มที่เป็นแพทย์มากกว่าร้อยละ 80 เคยดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาต้านพิษและเซรุ่มต้านพิษงู แต่แพทย์ร้อยละ 58.5 ไม่ทราบว่าเรื่องยาและแหล่งสำรองยาต้านพิษ ข้อมูลจากสรุปผลการดำเนินงานของโครงการฯเมื่อปีงบประมาณ ๒๕๖๓ ในการอบรมแบบออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Web Conference หรือ Electronic Conference) พบว่า มีผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งหมด มีจำนวน 786 คน มากกว่าจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึงร้อยละ 196.5 นอกจากแพทย์ พยาบาลและเภสัชกร ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักแล้วยังมีกลุ่มบุคลากรอื่นๆ เช่น นักเทคนิคการแพทย์ นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ นักศึกษาแพทย์ เข้าร่วมการอบรมด้วย บุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้มาจากหน่วยบริการ 150 แห่งใน ๔๙ จังหวัดทั่วประเทศ โดยมาจากภาคกลาง ร้อยละ 35.3 ภาคใต้ร้อยละ 26.6 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 1๖ เป็นหน่วยบริการประเภทโรงพยาบาลชุมชนร้อยละ 28.๒ เป็นโรงพยาบาลทั่วไปร้อยละ 21.8 และโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยร้อยละ 11.3 สำหรับหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาลมีร้อยละ 8.9 ได้แก่ มหาวิทยาลัย (คณะแพทยศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์) สปสช.เขต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและองค์การเภสัชกรรม การจัดการอบรมในรูปแบบนี้ ทำให้ผู้เข้าอบรมเข้าถึงได้ง่าย ไม่เสียเวลาเดินทาง หรือลางาน และยังทำให้สหวิชาชีพในโรงพยาบาลได้เรียนรู้ร่วมกัน
สถานการณ์ในปัจจุบันที่ประเทศไทยมีหน่วยบริการตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไปจนถึงโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอยู่ประมาณ ๑,๕๐๐ แห่ง บุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษาหรือผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลรักษาผู้ป่วยและการใช้ยาต้านพิษ/เซรุ่ม-ต้านพิษงู ไม่ทราบเกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการยาในโครงการต้านพิษ อีกทั้งการอบรมให้ความรู้เมื่อปีงบประมาณ ๒๕๖๓ ที่ผ่านมายังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจาก สปสช. ในการจัดทำ “โครงการชี้แจงแนวทางการจัดการและการเบิกจ่ายยาต้านพิษในสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ: การชี้แจงผ่านการประชุมทางไกลด้านพิษวิทยาคลินิกผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะพิษด้วยยาต้านพิษและเซรุ่มต้านพิษงู”
วัตถุประสงค์
1. เพื่อชี้แจงแนวทางและส่งเสริมความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับพิษ การใช้ยาต้านพิษและเซรุ่มต้านพิษงูแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มเป้าหมายที่ปฏิบัติงานในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
2. เพื่อชี้แจงแนวทางหน่วยบริการในการดูแลรักษาผู้ที่ได้รับพิษและถูกงูพิษกัดให้เป็นไปตามสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมาตรฐานระดับสากล
3. เพื่อให้แนวทางการให้บริการยาต้านพิษและเซรุ่มต้านพิษงูของหน่วยบริการให้ได้ประโยชน์ทั้งในด้านการประหยัดและประสิทธิภาพสูงสุด
4. เพื่อให้แนวทางในระบบการบริหารจัดการยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ และเสริมสร้างบรรยากาศในการดำเนินงานอย่างบูรณาการในทุกภาคส่วน
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
การรับสมัคร/ลงทะเบียน อบรมแบบเดี่ยว >>> ผู้สนใจเข้าร่วมการอบรมลงทะเบียนผ่าน website ศูนย์พิษวิทยา เพื่อกรอกรายละเอียดและรอบการอบรม อบรมแบบกลุ่มหน่วยงานภายในโรงพยาบาล >>> ตัวแทนของโรงพยาบาลลงทะเบียนผ่าน website ศูนย์พิษวิทยา เพื่อกรอกรายละเอียดและรอบการอบรม ***ลงทะเบียนภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564*** ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-220-11083-6 (เฉพาะในเวลาราชการ) E-mail: poisrequest@gmail.com Line ID: @rpc1367