ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่ง sms และ email แจ้งเตือนสมาชิกผู้ที่มีหน่วยกิตไม่ครบเกณฑ์ ครั้งต่อไปในวันที่ 11 กรกฎาคม 2568

การประชุมวิชาการ
Social and Administrative Pharmacy Graduate Studies and Research Conference 2021: Momentum for Change in Primary Care Pharmacy during Digital and Transformative Era
ชื่อการประชุม Social and Administrative Pharmacy Graduate Studies and Research Conference 2021: Momentum for Change in Primary Care Pharmacy during Digital and Transformative Era
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
รหัสกิจกรรม 1009-2-000-003-05-2564
สถานที่จัดการประชุม Online
วันที่จัดการประชุม 20 -21 พ.ค. 2564
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
กลุ่มเป้าหมาย 1) นิสิตนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา คณะเภสัชศาสตร์ 2) อาจารย์ คณะเภสัชศาสตร์
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 9 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ในทศวรรษที่ผ่านมาระบบยาและสุขภาพมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องทั้งจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรทำให้เข้าสู่สังคมสูงวัย (Ageing Society) การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยทำให้สามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างรวดเร็วในทุกเวลาและสถานที่ (Internet of Everything) มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการรักษาที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น (Precision Medicine and Advanced Health Technology) ตลอดจนการพัฒนางานเภสัชกรรมให้เท่าทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและตอบสนองกับความต้องการของประชาชนและสังคม
นโยบายและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของระบบยาและสุขภาพในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีผลกระทบทั้งต่อระบบสุขภาพ การจัดการศึกษาและอัตรากำลังของเภสัชกร โดยเฉพาะแผนการจัดบริการสุขภาพ (Service Plan) ระบบการดูแลระยะยาว (Long-Term Care: LTC) การจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Care Cluster: PCC) ทีมหมอครอบครัว (Family Care Team) และการพัฒนาการศึกษาและการทำงานร่วมกันระหว่างสหวิชาชีพ (Inter-Professional Education and Practice: IPE and IPP) การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (Rational Drug Use: RDU) การคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ โครงการลดความแออัดในการให้บริการที่โรงพยาบาล เช่น การรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน การส่งยาทางไปรษณีย์และส่งยาโดย อสม. นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมายังมีทิศทางการจัดบริการสุขภาพรูปแบบใหม่ ได้แก่ โทรเวชหรือการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) ที่มาพร้อมกับการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ระหว่างการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (Covid-19) ซึ่งเป็นโอกาสและความท้าทายในการพัฒนางานเภสัชกรรมในยุคความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิตัล
เภสัชศาสตร์สังคมและการบริหาร (Social and Administrative Pharmacy: SAP) เป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับยาและสุขภาพในมิติทางสังคมศาสตร์และการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาระบบยาและงานเภสัชกรรม รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้และเสริมสร้างศักยภาพของเภสัชกรและภาคีเครือข่ายเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพดีและความปลอดภัยของประชาชนในสังคม ดังนั้นการจัดเวทีวิชาการเพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้าของการวิจัยและการพัฒนางาน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ด้านเภสัชศาสตร์สังคมและการบริหารจึงมีความสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาระบบยาและสุขภาพของประเทศ
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตบัณฑิตเภสัชศาสตร์สาขาการบริบาลทางเภสัชกรรมที่มุ่งเน้นการทำงานเพื่อสังคมและปลูกฝังการมีหัวใจรับใช้ชุมชน (Community Mind) นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเภสัชกรรมปฐมภูมิ (Master of Pharmacy Program in Primary Care Pharmacy) และหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาอื่นๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาบัณฑิตเภสัชกรในด้านเภสัชศาสตร์สังคมและการบริหาร รวมทั้งมีหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (Social Pharmacy Research Unit: SPRU) ที่ส่งเสริมการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมในการพัฒนาระบบยาและงานเภสัชกรรมและเพื่อบริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม อาทิ การดำเนินโครงการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายเภสัชกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในปี 2563 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการวิจัยบัณฑิตศึกษาด้านเภสัชศาสตร์สังคมและการบริหารกับภาคีสถาบันการศึกษาอื่นในประเทศไทยอีก 5 สถาบัน และได้รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการวิจัยและบัณฑิตศึกษาด้านเภสัชศาสตร์สังคมและการบริหารระดับชาติ ประจำปี 2564 เพื่อเป็นเวทีวิชาการในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ ทิศทางและนโยบายการพัฒนางานเภสัชกรรมปฐมภูมิ การปรับตัวของสถาบันการศึกษาในการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาและการอบรมระยะสั้น (Short Course Training) และการนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าทางวิชาการ แนวคิดและประสบการณ์ระหว่างภาคีสถาบันการศึกษา นักวิจัย ผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่สนใจ รวมทั้งเป็นเวทีส่งเสริมและพัฒนาผลงานวิจัยบัณฑิตศึกษาเพื่อนำไปสู่การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติต่อไป
ดังนั้นคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคมและหลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเภสัชกรรมปฐมภูมิ จึงเสนอโครงการจัดประชุมวิชาการระดับชาติด้านเภสัชศาสตร์สังคมและการบริหาร ประจำปี 2564 ในเบื้องต้นกำหนดชื่อการประชุมในหัวข้อ Social and Administrative Pharmacy Graduate Studies and Research Conference 2021: Momentum for Change in Primary Care Pharmacy during Digital and Transformative Era โดยมีกิจกรรมเป็นการบรรยาย เสวนาและนำเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาของภาคีสถาบัน แบบออนไลน์หรือการประชุมทางไกล virtual conference ระหว่างวันที่ 20-21 พฤษภาคม 2564
วัตถุประสงค์
1) เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความก้าวหน้าทางวิชาการด้านเภสัชศาสตร์สังคมและการบริหาร โดยเฉพาะการพัฒนาระบบยาและสุขภาพ และงานเภสัชกรรมปฐมภูมิแก่ผู้ที่สนใจ
2) เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาและแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าทางวิชาการด้านเภสัชศาสตร์สังคมและการบริหารระหว่างภาคีสถาบันการศึกษา
3) เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยและบัณฑิตศึกษาระหว่างผู้ปฏิบัติงาน นักวิชาการ สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คำสำคัญ
เภสัชศาสตร์สังคมและการบริหาร
วิธีสมัครการประชุม
http://pharmacy.msu.ac.th/sapconf/index.php/reg4/register