การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมวิชาการ เรื่อง รู้ทัน “เวียนหัว บ้านหมุน น้ำในหูไม่เท่ากัน”
ชื่อการประชุม โครงการประชุมวิชาการ เรื่อง รู้ทัน “เวียนหัว บ้านหมุน น้ำในหูไม่เท่ากัน”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-2-000-005-06-2564
สถานที่จัดการประชุม ผ่านระบบออนไลน์ Cisco Webex Event
วันที่จัดการประชุม 23 มิ.ย. 2564
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สนใจ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.75 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเกือบเต็มรูปแบบ (Aged society) โดยมีจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 12 ล้านคน คิดเป็น 18% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในปี 2564 โดยมีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวในปี 2565 และจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super aged society)” ในปี 2583 ซึ่งจะมีจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึง 20.42 ล้านคน คิดเป็น 31.28% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ขณะที่ประชากรวัยเด็กจะมีเพียง 8.4 ล้านคน คิดเป็น 12.8% เท่านั้น ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจึงได้ปรับแผนปฏิบัติการ (พ.ศ. 2563-2565) มุ่งเน้นถึงการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยรณรงค์ให้คนวัยทำงานเข้าใจวิธีการเตรียมตัวในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านรายได้ ชีวิตความเป็นอยู่ และสุขภาพซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปัจจัยในการดำรงชีวิตด้านอื่น ๆ ดังนั้นการมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและโรคภัยต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้นจะทำให้สามารถดูแลตัวเองได้เหมาะสม ทั้งในด้านวิธีการปฏิบัติตัว การเลือกรับประทานยาหรืออาหารเสริม โภชนาการ รวมถึงการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเกิดโรคและลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
การสูงวัยเป็นกระบวนการปกติของร่างกายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพระดับจุลกายวิภาคศาสตร์ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับมหกายวิภาคศาสตร์ ส่งผลให้การทำงานของร่างกายมีการเสื่อมถอยลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยระบบประสาทรับความรู้สึกเป็นอีกระบบหนึ่งที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ระบบประสาทรับความรู้สึกเป็นระบบที่มีความสำคัญต่อร่างกาย ช่วยให้เรารับรู้ข้อมูลของสิ่งแวดล้อมรอบตัว เมื่อสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบจะส่งข้อมูลไปยังสมอง เพื่อที่จะให้สมองทำการประมวลผลและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทรับความรู้สึก เช่น อาการเวียนหัว บ้านหมุน สูญเสียการทรงตัว สามารถพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เป็นอาการที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาการดังกล่าวสามารถนำไปสู่การพลัดตกหกล้ม กระดูกหัก จนถึงการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้ต้องสูญเสียค่ารักษาพยาบาลอย่างมากมาย และผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดคือการสูญเสียชีวิตอันเนื่องมาจากภาวะแทรกซ้อน โดยอาการอาการเวียนหัว บ้านหมุน และการสูญเสียการทรงตัว สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ได้เกิดจากภาวะน้ำในหูไม่เท่ากันอย่างที่เข้าใจกันเท่านั้น อาการดังกล่าวอาจเกิดจากการติดเชื้อในหูชั้นใน การอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 8 การเคลื่อนตัวของหินปูนในหูชั้นใน ความผิดปกติของสมอง หรือแม้แต่ภาวะไมเกรนก็สามารถทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้ นอกจากนี้อาการเวียนหัวบ้านหมุนไม่ได้พบเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น ยังสามารถพบได้ในช่วงวัยอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการเข้าใจถึงพยาธิสรีรวิทยาของอาการเวียนหัว บ้านหมุน อย่างถ่องแท้จะทำให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจถึงสาเหตุ อาการ การรักษา และการปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเห็นสมควรเปิดการประชุมวิชาการในหัวข้อ “รู้ทัน เวียนหัว บ้านหมุน น้ำในหูไม่เท่ากัน” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับพยาธิสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับอาการเวียนหัว บ้านหมุน การรักษา และการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี ทำให้สามารถประยุกต์องค์ความรู้ไปใช้ในการทำงานด้านสาธารณสุข และนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ดูแลสุขภาพแบบองค์รวมของตนเองและคนใกล้ชิดได้
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ผู้ร่วมประชุม
2.1 มีความรู้เกี่ยวกับพยาธิสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับอาการเวียนหัว บ้านหมุน
2.2 มีความเข้าใจการรักษาอาการเวียนหัว บ้านหมุน
2.3 มีความเข้าใจการปฏิบัติตนเพื่อลดอาการเวียนหัว บ้านหมุน
2.4 สามารถนำความรู้ที่ได้จาการอบรมไปปฏิบัติและเผยแพร่
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
การสมัครและการลงทะเบียน ค่าลงทะเบียนคนละ 200 บาท - ค่าลงทะเบียนหากชำระภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2564 คนละ 200.- บาท - ค่าลงทะเบียนหากชำระหลังวันที่ 9 มิถุนายน 2564 คนละ 300.- บาท โปรดกรอกใบสมัคร online ทาง www.pharmacy.mahidol.ac.th/conference พร้อมชำระเงินโดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารามาธิบดี บัญชีประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 026-462266-0 ชื่อบัญชี การประชุมวิชาการภาควิชาสรีรวิทยา พร้อมแนบไฟล์หลักฐานการโอนเงินชำระค่าลงทะเบียนลงในระบบลงทะเบียนเพื่อการตรวจสอบ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานมหาวิทยาลัย เข้าร่วมอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียน จากต้นสังกัดได้ตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค 0409.6/ว95 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2549 และระเบียบของแต่ละหน่วยงาน หน่วยงานที่รับผิดชอบ: ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทรศัพท์ 0-2644-8703 Email: narumon.sak@mahidol.ac.th หน่วยจัดกิจกรรมวิชาการ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คุณสุพัตรา - E-mail:supattra.kon@mahidol.ac.th หรือ Tel:087-559-7393 คุณอมรรัตน์ - E-mail:amonrut.jai@mahidol.ac.th หรือ Tel:088-611-6277