การประชุมวิชาการ
การประชุมเพื่อการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ (CPE) ครั้งที่ 1/2564
ชื่อการประชุม การประชุมเพื่อการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ (CPE) ครั้งที่ 1/2564
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
รหัสกิจกรรม 1015-2-000-001-03-2564
สถานที่จัดการประชุม
วันที่จัดการประชุม 21 มี.ค. 2564
ผู้จัดการประชุม สมาคมเภสัชกรจังหวัดชลบุรี
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรในพื้นที่จังหวัดชลบุรี
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 6 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
เรื่องที่ 1 เรื่อง ไอ เจ็บคอ ภูมิแพ้ แก้ง่ายๆได้ที่ร้านยา
หลักการและเหตุผล
อาการ ไอ เจ็บ คอ และ ภูมิแพ้ เป็นอาการที่มักพบบ่อยในร้านขายยา
อาการไอ เป็น อาการที่เกิดกับทุกเพศ ทุกวัย การไอมีประโยชน์ เพราะ เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น ควัน เกสรดอกไม้ อากาศที่แห้ง การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของอุณหภูมิ มีการติดเชื้อในทางเดินหายใจ สูดแก๊สที่มีฤทธิ์ระคายเคือง เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้มักทำให้เกิด การไอแบบเฉียบพลัน (มีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์) แต่ถ้าเกิดการไอเรื้อรัง (มีระยะเวลาของอาการไอมากกว่า 3 สัปดาห์ ถึง 8 สัปดาห์) บ่งบอกว่าอาจมีพยาธิสภาพบางอย่างในทางเดินหายใจ เช่น โรควัณโรคปอด โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง สายเสียงอักเสบเรื้อรัง หรืออาจมีพยาธิสภาพที่ร้ายแรงกว่านั้น คือ ปอดอักเสบ มีเนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียงหรือหลอดลม โรคของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ หรือ อาจเป็นผลจากการรับประทานยาบางชนิดเช่น ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACEI (angiotensin-converting-enzyme inhibitor)
ผลเสียของการไอคือ รบกวนการนอนหลับ/การทำงาน ทำให้อ่อนเพลีย-หมดแรง ปวดศีรษะ ถ้าเด็กติดเชื้อไอกรน อาจไอมากจนหยุดหายใจได้ การไอแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ไอมีเสมหะ และ ไอไม่มีเสมหะ ฉะนั้น เมื่อเกิดอาการไอ การจะรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการไอ ควรเลือกชนิดของยาให้ถูกต้องกับอาการไอนั้นๆ
เจ็บคอ (Sore Throat) เป็นภาวะที่ไม่สบายในลำคอ ทำให้กลืนลำบากและเจ็บปวด ผู้ที่เจ็บคอมักมีอาการคอแห้ง แดง แสบและระคายเคือง สาเหตุที่ทำให้เจ็บคอที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อแบคทีเรีย การสัมผัสกับมลภาวะและสารระคายเคืองในอากาศ (เช่น ควันบุหรี่) อากาศแห้ง การใช้เสียงมาก โรคกรดไหลย้อน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และ อาหารรสเผ็ดก็อาจเป็นสาเหตุของการระคายเคืองในลำคอได้ ในเด็กและวัยรุ่น (พบได้บ่อย ในเด็กอายุ 5-15 ปี) ที่มีอาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Group A Betahemolytic Streptococcus แล้วไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ที่รุนแรง อาจลุกลามเป็นโรคหัวใจรูมาติกหรือไตอักเสบเฉียบพลัน ส่วนต่อมทอนซิลและ คอหอยอักเสบมักพบการอักเสบที่ Mucous Membrane ของคอหอย (pharynx) ด้านหลัง และรอบๆ ต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บคอเด่นชัดกว่าอาการอื่นๆ ส่วน laryngitis คือกล่องเสียงอักเสบ อาการเด่นก็มีเสียงแหบ และเจ็บคอ ด้วยเช่นกัน
โรคภูมิแพ้ (Allergy) เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย แล้วกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน และมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นมากผิดปกติ ภายหลังเมื่อได้รับสารนั้นเข้าไปอีก ภูมิคุ้มกันดังกล่าว ก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการ
- ถ้าโรคภูมิแพ้ เกิดที่จมูก เรียกว่า โรคแพ้อากาศ (โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้)
- ถ้าโรคภูมิแพ้ เกิดที่ตา เรียกว่า โรคเยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้
- ถ้าโรคภูมิแพ้ เกิดที่หลอดลม เรียกว่า โรคหืด
- ถ้าโรคภูมิแพ้ เกิดที่ผิวหนัง เรียกว่า ลมพิษ หรือ ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้
- ถ้าโรคภูมิแพ้ เกิดที่ทางเดินอาหาร เรียกว่า โรคแพ้อาหาร
มลพิษในอากาศ เช่นฝุ่น PM 2.5 มลพิษในอาคาร และบ้าน ก็ทำให้อุบัติการณ์ และความรุนแรงของโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย
ปัจจุบันโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เป็นโรคที่เป็นทั้งระบบของร่างกาย (systemic disease) คือ มีโอกาสที่จะมีโรคร่วมชนิดต่างๆ ได้มาก เช่น โรคหืด, ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้, เยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้, หูชั้นกลางอักเสบ มีน้ำขัง, แพ้อาหาร, ริดสีดวงจมูก

เรื่องที่ 2 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาและส่งเสริมการขายสำหรับร้านยา
หลักการและเหตุผล
การโฆษณาและส่งเสริมการขายเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยให้ร้านยาเป็นที่รู้จักของประชาชน ช่วยให้ร้านยาสามารถบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ภายในร้านได้ แต่การจัดโฆษณาหรือส่งเสริมการขายนั้นมีประเด็นด้านกฎหมายและจรรยาบรรณวิชาชีพเข้ามาเกี่ยวข้อง หากปฏิบัติไม่ถูกต้องแล้วก็ส่งผลให้ถูกดำเนินคดีซึ่งมีผลต่อค่าใช้จ่ายของร้าน ภาพลักษณ์ของร้าน และเภสัชกรประจำร้านก็อาจถูกพิจารณาคดีจรรยาบรรณวิชาชีพได้ ดังนั้นจึงต้องมีหลักคิดก่อนการโฆษณาและส่งเสริมการขาย เพื่อให้ร้านยาใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจก่อนจะใช้วิธีการใดในการโฆษณาหรือส่งเสริมการขาย เพื่อให้ปฏิบัติได้อย่างสอดคล้องกับกฎหมาย และไม่ฝ่าฝืนจรรยาบรรณวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของร้านยาในการเป็นสถานประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพิ่มความน่าเชื่อถือของร้านยา และช่วยในการบริการจัดการผลิตภัณฑ์ภายในร้านยาด้วย

เรื่องที่ 3 Role of Emollient in Atopic Dermatitis
หลักการและเหตุผล
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เป็นโรคที่มีการอักเสบของผิวหนังเรื้อรัง ทำให้มีอ่าการคันเป็นๆหายๆมีลักษณะทางคลินิคที่สำคัญ คือ มีผิวหนังอักเสบแบบ Eczema ที่มีอาการคันมาก ผิวหนังแห้ง และมีการกำเริบเป็นระยะๆ มักมีประวัติคนในครอบครัวและอาจพบว่ามีอาการภูมแพ้ของระบบอื่นในร่างกายด้วย ในปัจจุบันพบอุบัติการณ์ของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเพิ่มขึ้น พบถึงร้อยละ 10-20 ของเด็กทั่วโลก โดยพบในช่วงขวบปีแรกถึงร้อยละ 60 และพบเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85 ใน 5 ขวบปีแรก ซึ่งโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอย่างเหมาะสม คือ การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว การหลีกเลี่ยงปัจจัยหรือตัวกระตุ้นที่ทำให้ผื่นกำเริบ การวางแผนดูแลรักษาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การป้องกันไม่ให้โรคกำเริบและดูแลให้อยู่ในช่วงสงบนานที่สุดเท่าที่ทำได้ จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

เรื่องที่ 4 How to Minimize Defect of Amoxicillin-clavulanic acid in Real Practice
หลักการและเหตุผล
ยา Amoxicillin เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Penicillins ทีออกฤทธิ์กระทำต่อเชื้อแบคทีเรียที่ไวต่อสิ่งมีชีวิตในช่วงขั้นตอนการยับยั้งการสังเคราะห์การสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ส่วน Clavulanic acid เป็นยาต้านเอนไซม์ beta-lactamase inhibitors เพื่อป้องกันยา Penicillinถูกทำลายด้วยเอนไซม์ beta-lactamaseซึ่งจะทำลายยา Penicillins ก่อนที่ยาจะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย มีข้อบ่งใช้ในการรักษา เช่น สำหรับการติดเชื้อทางระบบหายใจส่วนบนและส่วนล่าง, การติดเชื้อที่ Skin and Soft Tissue Infection และการติดเชื้อ Urinary Tract Infection ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่สร้างเอนไซม์ beta-lactamase สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของยาคือ ความคงตัวของยาหรือเภสัชภัณฑ์ ซึ่งการบรรจุยาในภาชนะที่เหมาะสม และจัดวางในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จะช่วยคงสภาพยาได้ การควบคุมและจัดเก็บเภสัชภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้ยาสลายตัวมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะส่งผลให้อายุการใช้ยาสั้นลงได้

วัตถุประสงค์
เรื่องที่ 1 เรื่อง ไอ เจ็บคอ ภูมิแพ้ แก้ง่ายๆได้ที่ร้านยา
1. ผู้เข้าร่วมประชุมทราบถึง สาเหตุ และ ปัจจัยกระตุ้น ของอาการไอ เจ็บคอ และ ภูมิแพ้ ที่มักพบบ่อยในร้านยา
2. สามารถเลือกใช้ยา และ การ ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว ในการรักษา อาการไอ เจ็บคอ และ ภูมิแพ้ ได้ อย่างถูกต้องและเหมาะสม

เรื่องที่ 2 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาและส่งเสริมการขายสำหรับร้านยา
1. ทราบถึงหลักคิดก่อนการโฆษณาหรือส่งเสริมการขาย
2. ทราบเกี่ยวกับประเภทผลิตภัณฑ์กับเนื้อหาหรือวิธีการโฆษณาหรือส่งเสริมการขายที่สามารถใช้ได้
3. ทราบจรรยาบรรณวิชาชีพเภสัชกรรมที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาและส่งเสริมการขาย
4. ทราบวิธีการตรวจสอบเลขที่อนุญาตโฆษณาในบางผลิตภัณฑ์
5. เรียนรู้กรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาและส่งเสริมการขาย

เรื่องที่ 3 Role of Emollient in Atopic Dermatitis
1. ผู้เข้าร่วมประชุมทราบถึงอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดผื่นกำเริบ การป้องกันและการดูแลรักษาโรคได้
2. สามารถเลือกใช้ยาทาและสารให้ความชุ่มชื้นทางผิวหนังได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

เรื่องที่ 4 How to Minimize Defect of Amoxicillin-clavulanic acid in Real Practice
1. ผู้เข้าร่วมประชุมทราบถึงปัจจัยที่มีผลต่อการสลายตัวของยา
2. บทบาทของเภสัชกรที่เกี่ยวกับการเก็บรักษายาของผู้ป่วย

คำสำคัญ