การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเภสัชกรรมคลินิก ปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 13/2564 เรื่อง เทคโนโลยีการออกแบบการผลิตและประกันคุณภาพเภสัชภัณฑ์
ชื่อการประชุม โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเภสัชกรรมคลินิก ปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 13/2564 เรื่อง เทคโนโลยีการออกแบบการผลิตและประกันคุณภาพเภสัชภัณฑ์
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสกิจกรรม 1003-2-000-007-02-2564
สถานที่จัดการประชุม การสัมมนาออนไลน์ (Webinar) ถ่ายทอดสดภาพและเสียงจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันที่จัดการประชุม 05 ก.พ. 2564
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรทั่วไปที่สนใจ เภสัชกรในฝ่ายวิจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์ในโรงงานอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง และคณาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 4.25 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
เทคนิคในการพัฒนาตำรับยาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบยาเม็ด แคปซูล ยาน้ำใส ยาน้ำแขวนตะกอน ยาพื้นขี้ผึ้ง เจล ตลอดจนยาฉีดนั้น มีการพัฒนาระบบนำส่งยาเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในแต่ละรูปแบบ รวมทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้อย่างเหมาะสม และตอบโจทย์หลักการประกันคุณภาพเภสัชภัณฑ์ (Quality Assurance for Pharmaceutical Products) ทั้งนี้ ผู้ศึกษาวิจัยและพัฒนาตำรับยาเตรียมแต่ละรูปแบบ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความรู้พื้นฐานทางเภสัชกรรมในการตั้งตำรับยา เพื่อเป็นข้อมูลและแนวทางในการกำหนดคุณลักษณะของยาเตรียมเป้าหมาย (Target product profile; TPQP) ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งปัจจุบันกลยุทธ์นี้ยังนำไปใช้ช่วยในการตัดสินใจ ใช้สื่อสารกับองค์การอาหารและยา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนยาและใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่ง TPQP ยังสัมพันธ์กับความจำเพาะของผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ รูปแบบยาเตรียม ความบริสุทธิ์ และความคงตัวหรือระยะเวลาในการเก็บรักษา

อย่างไรก็ตาม กระบวนการพัฒนาตำรับยาเตรียมแต่ละรูปแบบ มีความซับซ้อน และต้องการระเบียบวิธีวิจัยที่มีประสิทธิภาพ สามารถอธิบายผลที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีการนำวิธีการออกแบบการทดลอง (Design of experiment; DOE) และการวิเคราะห์ผลทางสถิติมาใช้กันอย่างกว้างขวาง ในการพัฒนาตำรับยาเตรียม (Formulation development) การหากระบวนการผลิตที่เหมาะสม (Process optimization) ข้อดีของการนำ DOE มาใช้ในการพัฒนาตำรับผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและเครื่องสำอาง คือ สามารถใช้ในการประเมินปัจจัยที่มีศักยภาพต่อค่าสังเกตที่ต้องการไปพร้อม ๆ กันอย่างเป็นระบบ โดยใช้เวลาไม่นาน ตลอดจนหาปัจจัยวิกฤต (Critical factors) โดยอาศัยการวิเคราะห์ผลทางสถิติ เมื่อหาปัจจัยวิกฤตได้แล้ว จึงนำปัจจัยที่เลือกได้มาหาระดับของปัจจัยวิกฤตที่เหมาะสม นอกจากการใช้ DOE ในการออกแบบและการพัฒนาเภสัชภัณฑ์ ยังมีการประยุกต์ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Microsoft Excel เพื่อใช้ในการออกแบบและพัฒนาเภสัชภัณฑ์ รวมทั้งการประมวล Content Uniformity ด้วย ซึ่งจะช่วยให้เภสัชกรในฝ่ายวิจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์ในโรงงานอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบ และประหยัดเวลา รวมทั้งทรัพยากรในการพัฒนาและออกแบบตำรับยาเตรียม ได้เภสัชภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติตรงตามเป้าหมายและสอดคล้องกับคุณภาพเภสัชภัณฑ์ที่ต้องการ

โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ นี้ จึงมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอแนวทางการออกแบบและพัฒนาเภสัชภัณฑ์ ที่สอดคล้องกับหลักการการประกันคุณภาพเภสัชภัณฑ์ รวมทั้งนำเสนอระเบียบวิธีวิจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์ที่อาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและโปรแกรมสำเร็จรูป ให้กับเภสัชกรในอุตสาหกรรมการวิจัย พัฒนา และผลิตยา รวมทั้งเครื่องสำอาง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเภสัชภัณฑ์และเครื่องสำอาง ได้อย่างมีระเบียบแบบแผน เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยระเบียบวิธิวิจัยทางสถิติ
วัตถุประสงค์
1. นำเสนอแนวทางการออกแบบและพัฒนาเภสัชภัณฑ์ ที่สอดคล้องกับหลักการการประกันคุณภาพเภสัชภัณฑ์
2. นำเสนอระเบียบวิธีวิจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์และเครื่องสำอาง แก่เภสัชกรในอุตสาหกรรมการวิจัย พัฒนา และผลิตยา รวมทั้งเครื่องสำอาง โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป
คำสำคัญ
เทคโนโลยีการออกแบบการผลิตและประกันคุณภาพเภสัชภัณฑ์
วิธีสมัครการประชุม
1. เข้าเว็บไซต์ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ คณะเภสัชศาสตร์ มช. https://cpe.pharmacy.cmu.ac.th จากนั้นทำการสมัครสมาชิก 2. เมื่อสมัครสมาชิกแล้ว ให้ Login เลือกรายการงานประชุมที่สนใจสมัครเข้าร่วม จากนั้นคลิกสมัคร 3. เมื่อสมัครแล้ว ให้ดำเนินการชำระค่าสมัครและอัพโหลดหลักฐานการชำระเงินในระบบของท่าน 4. จากนั้นให้รอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและยืนยันการสมัคร เป็นอันเสร็จสิ้น