การประชุมวิชาการ
การฝึกอบรมระยะสั้น หลักสูตรประกาศนียบัตรการบริบาลทางเภสัชกรรม สาขาการให้บริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยแบบประคับประคอง รุ่นที่ 5 รอบที่ 3 (ช่วง 3 เดือน)
ชื่อการประชุม การฝึกอบรมระยะสั้น หลักสูตรประกาศนียบัตรการบริบาลทางเภสัชกรรม สาขาการให้บริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยแบบประคับประคอง รุ่นที่ 5 รอบที่ 3 (ช่วง 3 เดือน)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รหัสกิจกรรม 1005-2-000-009-01-2564
สถานที่จัดการประชุม ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันที่จัดการประชุม 01 ม.ค. 2564 - 31 มี.ค. 2564
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรโรงพยาบาล
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 26 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
แนวทางของสาธารณสุขมีเป้าหมายในการป้องกันและปรับปรุงภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรที่มีความจำเป็นต้องได้รับการบริการทางด้านสาธารณสุข การดูแลบรรเทาอาการ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยทุกรายเช่นกัน และมีประโยชน์อย่างมากในผู้ป่วยระยะลุกลาม

ในปี พ.ศ. 2543 องค์การอนามัยโลก World Health Organization (WHO) สร้างกลยุทธ์ทางสาธารณสุข ได้บูรณาการการดูแลบรรเทาอาการ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการดูแลสุขภาพ รวมถึงมีคำแนะนำและแนวทาง (guidelines) สำหรับรัฐบาลเพื่อให้การดูแลบรรเทาอาการ เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง โดยองค์การอนามัยโลกได้สร้างแบบจำลองสาธารณสุข (Public Health Model) ขึ้นมา มีองค์ประกอบหลักอยู่ 4 ส่วนคือ ต้องมีนโยบายที่เหมาะสม ต้องมีการจัดหายาเพื่อใช้ในการรักษาอย่างเพียงพอ ต้องมีระบบการศึกษาของผู้ปฏิบัติงานทางด้านการดูแลสุขภาพ และจะต้องมีการดำเนินงานทางด้านการบริการดูแลบรรเทาอาการ ในทุกระดับ

ในประเทศไทยในอดีตการดูแลบรรเทาอาการไม่ไม่เป็นที่แพร่หลาย แต่ในปัจจุบันสถานการณ์การดูแลบรรเทาอาการดีขึ้นโดยหลายองค์กรให้การสนับสนุน จากการรายงานถึงสถานการณ์ยาบัญชีหลัก (essential drug) เพื่อใช้ในการดูแลบรรเทาอาการในโรงพยาบาลของประเทศไทย จากการสำรวจ 555 โรงพยาบาล มีรายการยาที่เป็นกลุ่ม non opioids 11 รายการจาก 24 รายการตามในบัญชีของ The International Association for Hospice and Palliative Care (IAHPC) มีใช้ในโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 แต่มีใช้น้อยในโรงพยาบาลระดับชุมชน ยากลุ่ม weak opioids ที่มีใช้มากในประเทศไทยคือยา tramadol ส่วน ยาที่เป็นกลุ่ม strong opioids ชนิดฉีดที่มีการใช้สูงคือ morphine ส่วนชนิดรับประทานส่วนใหญ่จะใช้เป็นยา morphine ชนิดออกฤทธิ์เนิ่นมากกว่าชนิดออกฤทธิ์ทันที นอกจากนี้ยังมีการใช้ยา fentanyl แบบแผ่นแปะและยา methadone อยู่บ้าง แต่ไม่เป็นที่แพร่หลายนัก

ด้วยความตระหนักในความสำคัญของบทบาทเภสัชกรดังกล่าวในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ ศูนย์การุณรักษ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ได้เล็งเห็นความสำคัญของเภสัชกรที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจและมีความชำนาญ ในการบริบาลทางเภสัชกรรมแบบเป็นองค์รวมนอกเหนือจากหน้าที่ในการเตรียมยาดังที่กล่าวมาในข้างต้น จึงได้ร่วมมือ จัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรการให้บริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยแบบประคับประคอง เป็นหลักสูตรภาคปฏิบัติ 16 สัปดาห์ โดยมีเนื้อหาทางทฤษฎีสอดแทรกตลอดระยะของการฝึกปฏิบัติงาน ในการฝึกปฏิบัติงานบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยแบบประคับประคอง โดยความอนุเคราะห์ของคณาจารย์คณะแพทย์ ได้กำหนดให้เภสัชกรฝึกปฏิบัติงาน ณ ศูนย์การุณรักษ์ และคลินิกผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยแบบประคับประคอง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นสถานที่หลักในการบริบาลผู้ป่วย โดยเภสัชกรจะได้มีโอกาสปฏิบัติงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญในการบริบาลผู้ป่วยแบบประคับประคองอย่างเป็นองค์รวม

ระยะเวลาของการฝึกปฏิบัติงานเภสัชกรรมคลินิก ณ ศูนย์การุณรักษ์ และคลินิกผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยแบบประคับประคอง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งสิ้น 16 สัปดาห์ โดยมีอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ เป็นผู้กำกับอย่างใกล้ชิด การฝึกปฏิบัติวิชาชีพจะเน้นเรื่อง กลไกการเกิดโรค การบริบาลด้วยยาบรรเทาปวดและการควบคุมอาการอย่างเป็นองค์รวม โดยใช้กิจกรรม Pharmacotherapy Consultation และ Drug Information Services เป็นกลไกหลักในการเรียนการสอน เภสัชกรมีโอกาสที่จะทำวิจัย (Research Projects) ให้ความรู้ด้านยา (In-service) แก่บุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เช่น แพทย์ และ พยาบาล ตลอดจนการใช้ Evidence-Based Medicine มาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วย หลักสูตรนี้เน้นถึงการทำให้ผู้เข้า อบรมเข้าใจถึงหลักการทั้งทางภาคทฤษฎี และปฏิบัติเพื่อที่จะสามารถนำไปปฏิบัติตลอดจนริเริ่มการบริบาลทางเภสัชกรรมได้จริงเมื่อจบหลักสูตรการอบรม
วัตถุประสงค์
ให้เภสัชกรได้ฝึกปฏิบัติงานการบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยแบบประคับประคอง ณ ศูนย์การุณรักษ์ และคลินิกผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยแบบประคับประคองโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
1.1 ให้เภสัชกรมีความพร้อมในส่วนของยาที่ใช้ในการบรรเทาอาการ ได้แก่ ด้านเภสัชวิทยา เภสัชจลนศาสตร์ อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการใช้ยา ขนาดยา และวิธีการบริหารยา
1.2 ให้เภสัชกรเข้าใจวัตถุประสงค์ของการใช้ยาบรรเทาปวดในสภาวะโรคต่างๆ
1.3 ให้เภสัชกรเข้าใจวัตถุประสงค์ของการใช้ยาบรรเทาอาการต่างๆ ที่ไม่ใช่ยาบรรเทาปวด
1.4 ให้เภสัชกรเข้าใจวัตถุประสงค์ของการใช้ยาบรรเทาอาการและได้ประยุกต์ใช้ความรู้จากการเตรียมยาและบริหารยา มาช่วยในการบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยแบบประคับประคอง
1.5 ให้เภสัชกรเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการทำวิจัย ขอบเขตของการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care Research) ตลอดจนการประเมินยาใหม่ที่จะถูกนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง
คำสำคัญ
ฝึกอบรมระยะสั้น, หลักสูตรประกาศนียบัตร, การบริบาลทางเภสัชกรรม, ผู้ป่วยแบบประคับประคอง
วิธีสมัครการประชุม
Online