การประชุมวิชาการ
Trend of Human Rabies Prophylaxis: Toward Optimal Immunization
ชื่อการประชุม Trend of Human Rabies Prophylaxis: Toward Optimal Immunization
สถาบันหลัก สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
รหัสกิจกรรม 5003-2-000-006-12-2563
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมนารายณ์ สีลม กรุงเทพฯ
วันที่จัดการประชุม 03 -04 ธ.ค. 2563
ผู้จัดการประชุม สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
กลุ่มเป้าหมาย แพทย์ เภสัชกร พยาบาล สัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีความเกี่ยวข้องในการควบคุมและให้การดูแลรักษาผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า จำนวนประมาณ 150 ท่านที่
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 7.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดเชื้อระบบประสาทจากสัตว์สู่คน มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นพาหะนำโรค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์จรจัดที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ และบางส่วนเป็นสัตว์เลี้ยงซึ่งมีความใกล้ชิดกับมนุษย์แต่ขาดการดูแลเอาใจใส่ในการให้วัคซีน และที่สำคัญ ในปัจจุบันโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ องค์การอนามัยโลกได้รายงานมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าทั่วโลกมากกว่า 55,000 รายต่อปี ในประเทศไทยถึงแม้ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้ามีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน (น้อยกว่า 10 รายต่อปี จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ) แต่พบมีอัตราผู้ถูกสุนัขกัดและสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศมากกว่า 400,000 รายต่อปี สูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไปเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้พบว่าบุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่งยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วยภายหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงไปจากเดิม ทำให้การรักษาผู้ถูกสัตว์กัดและการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าภายหลังสัมผัสโรคยังเป็นปัญหาที่พบบ่อยของแพทย์ในเวชปฏิบัติทั่วไป ดังนั้น สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นสถาบัน ที่มีพันธกิจหลักเกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า คือ การให้บริการทางคลินิก การวินิจฉัย การผลิตอิมมูโนโกลบุลิน การวิจัยพัฒนา การเผยแพร่ความรู้เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความเข้าใจในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ถูกสัตว์กัดและสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าในปัจจุบัน อีกทั้งเพื่อเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณของสถาบัน สถานเสาวภา สภากาชาดไทย จึงมีการจัดประชุมวิชาการระดับชาติเกี่ยวกับการดูแลผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าแก่บุคลากรทางการแพทย์ และ เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงาน โดยในครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย สถานเสาวภากับบทบาทของการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แนวทางการดูแลผู้ป่วยภายหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าและความแตกต่างของแนวทางที่สถานเสาวภาใช้กับแนวทางที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ รวมทั้งปัญหา ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยภายหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า
นอกจากนี้เพื่อสอดคล้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สถานเสาวภาจึงจำกัดผู้เข้าร่วมประชุมในงานจำนวน 150 ท่าน และจะมีการจัดการบรรยายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางเวบไซด์งานประชุมเพื่อเว้นระยะห่างทางกายภาพและลดการระบาดของไวรัส โดยผู้เข้าร่วมประชุมทางไกลสามารถเข้าฟังบรรยายงานประชุมผ่านสื่อออนไลน์พร้อมกันกับผู้เข้าอบรมในงาน รวมทั้งช่วยลดปัญหาค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องสูญเสียไปกับการเดินทางด้วย
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้เรื่องการวินิจฉัยและแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าและการดูแลรักษาผู้ถูกสัตว์กัดและสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งแนวทางการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย
2. เพื่อให้ผู้เข้าอบรม ได้เกิดกระบวนการเรียนรู้และเข้าใจ เพื่อช่วยพัฒนาการให้วัคซีน อิมมูโนโกลบุลิน และการดูแลรักษาผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า
คำสำคัญ
Rabies, Immunization, Guideline, Vaccine, Post-exposure prophylaxis, Pre-exposure prophylaxis, regimen
วิธีสมัครการประชุม
ค่าลงทะเบียน 1. สำหรับการลงทะเบียนเพื่อร่วมประชุมในงาน (on-site conference) - ลงทะเบียนภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 อัตราท่านละ 2,500 บาท - ลงทะเบียนหลังวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 อัตราท่านละ 2,800 บาท ราคานี้รวมอาหารกลางวัน 2 มื้อ อาหารว่าง 3 มื้อ กระเป๋างานประชุม และสามารถเข้าชมเนื้อหาการประชุมย้อนหลังผ่านทางสื่ออิเลคโทรนิคส์ได้ทุกหัวข้อ จนถึงวันที่ 10 มกราคม 2564 2. สำหรับการลงทะเบียนเพื่อร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (online conference) - อัตราท่านละ 1,000 บาท สามารถเข้าฟังเนื้อหาการประชุมแบบถ่ายทอดสดและย้อนหลังผ่านทางสื่ออิเลคโทรนิคส์ได้ทุกหัวข้อ จนถึงวันที่ 10 มกราคม 2564