การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาเครือข่ายเภสัชกรร้านยาในการดูแลผู้ป่วยโรคระบบประสาทและจิตเวช (Neuropsychiatric Pharmacist Network)
ชื่อการประชุม โครงการประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาเครือข่ายเภสัชกรร้านยาในการดูแลผู้ป่วยโรคระบบประสาทและจิตเวช (Neuropsychiatric Pharmacist Network)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสกิจกรรม 1003-2-000-028-09-2563
สถานที่จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันที่จัดการประชุม 13 ก.ย. 2563
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กลุ่มเป้าหมาย 1. เภสัชกรแหล่งฝึก/เภสัชกรผู้ปฏิบัติงานในร้านยาและโรงพยาบาล 30 คน 2. นักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 6 ผู้ปฏิบัติงานในร้านยาและโรงพยาบาล 10 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคหลอดเลือดสมองและสุขภาพจิตและจิตเวชเป็นแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศ โรคของระบบประสาทนอกจากโรคหลอดเลือดสมองก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ได้แก่ โรคลมชัก โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม เป็นต้น โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่พบบ่อยในโรคระบบประสาทที่ทำให้ผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล และเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยและครอบครัว ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว แม้ว่าปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสุขภาพสมัยใหม่ จะช่วยให้ลดอัตราการตายของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ตาม แต่พบว่าการได้รับการรักษาที่ไม่ทันท่วงทีอาจก่อให้เกิดความพิการได้ ความพิการที่พบได้แก่ อัมพาตครึ่งซีก เคลื่อนไหวลำบาก สูญเสียการทรงตัว กลืนอาหารลำบาก พูดไม่ชัด มีความบกพร่องทางความรู้สึกนึกคิด สภาพจิตใจอารมณ์ไม่ปกติ สูญเสียการรับรู้ทางประสาทสัมผัส ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ โรคลมชักเป็นกลุ่มอาการที่สมองส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดทำงานมากเกินปกติไปจากเดิมชั่วขณะหนึ่ง พบได้ประมาณ 25 คนต่อประชากร 1000 คน ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบมากและเป็นสาเหตุของการทุพพลภาพ ดังนั้นเภสัชกรจึงมีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยโรคนี้ทั้งในระยะเฉียบพลันและระยะยาว

อาการปวดศีรษะถือเป็นความผิดปกติที่สำคัญและมักพบได้บ่อยในปัจจุบัน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคปวดศีรษะไมเกรนมีอุบัติการณ์การเกิดเป็นอันดับที่ 3 ในทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15 ต่อปี นอกจากนี้ยังมีอุบัติการณ์การเกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังถึงร้อยละ 1.7-4 1 โดยพบว่าในประเทศไทย มีผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะถึงร้อยละ 60-70 ที่รักษาด้วยตัวเองที่ร้านยา 2 อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายยังได้รับการรักษาอาการปวดศีรษะอย่างไม่เหมาะสม รวมถึงมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคปวดศีรษะอย่างไม่ถูกต้อง 3 ดังนั้น ร้านยาและเภสัชกรซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์ในระดับปฐมภูมิ จึงมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคปวดศีรษะให้มีการใช้ยาได้อย่างประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุด

Saengcharoen W พบว่าเภสัชกรส่วนใหญ่ยังให้การบริบาลเภสัชกรรมที่ยังไม่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเลือกใช้ยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลันได้เหมาะสมกับความรุนแรงของอาการปวด รวมถึงยังขาดการประเมินและให้ยาป้องกันสำหรับอาการปวดศีรษะไมเกรนเรื้อรัง นอกจากนี้ยังขาดความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนที่มีความรุนแรงน้อยและปานกลาง และพบปัญหาจากการใช้ยาในโรคปวดศีรษะไมเกรนในร้านยาที่ต้องการคำแนะนำและการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น การใช้ยาเกินขนาด (medication overuse headache) และการได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสมกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะที่รุนแรง เป็นต้น ดังนั้นระบบเครือข่ายร้านยาไปสู่โรงพยาบาลหรือสถานบริการที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

โรคทางจิตจัดเป็นกลุ่มโรคที่ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ป่วย ผู้ดูแลและสังคม เป็นโรคที่ต้องใช้การรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นการรักษาด้วยการใช้ยา โดยยาจิตเวชเป็นกลุ่มยาที่มีอาการไม่พึงประสงค์และอันตรกิริยาค่อนข้างมาก ส่งผลให้เกิดความไม่ร่วมมือในการใช้ยาและผลต่อการรักษาและคุณภาพชีวิต การดูแลผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตและจิตเวชต้องอาศัยองค์ความรู้หลายด้าน ทั้งด้านการใช้ยา การสื่อสารกับผู้ป่วย การติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เภสัชกรเองมีบทบาทด้านการบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยจิตเวช สามารถริเริ่มและพัฒนางานบริบาลเภสัชกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยและสอดรับนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศได้อย่างต่อเนื่องร่วมกับสาขาวิชาชีพเพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพตามข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทันสมัยและมีความปลอดภัยทั้งจากอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดในระยะเฉียบพลันและในระยะยาว

ตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ทันสมัยสนับสนุนการสร้างสุขภาวะที่ดี ประกอบกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขด้านระบบบริการสุขภาพในการพัฒนากำลังคนด้านการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ ด้วยความตระหนักในความสำคัญของปัญหาดังกล่าว คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพและบทบาทของเภสัชกรในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคระบบประสาทและจิตเวช โดยเป้าหมายของโครงการนี้ต้องการให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการบริบาลเภสัชกรรมในกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มโรคนี้ และพัฒนาเครือข่ายการให้บริบาลทางเภสัชกรรมโดยความร่วมมือระหว่าวเภสัชกรร้านยาและเภสัชกรโรงพยาบาล
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เภสัชกรได้รับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการรักษาโรคระบบประสาทและจิตเวช
2. เพื่อพัฒนาเครือข่ายเภสัชกรในร้านยาในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคระบบประสาทและจิตเวช
คำสำคัญ
พัฒนาเครือข่ายเภสัชกรร้านยา, ผู้ป่วยโรคระบบประสาทและจิตเวช, Neuropsychiatric Pharmacist Network