การประชุมวิชาการ
การอบรมทางวิชาการสำหรับเภสัชกรชุมชน ประจำปี 2563 - ประเด็นการเรียนรู้ : โรคที่พบบ่อยในร้านขายยา
ชื่อการประชุม การอบรมทางวิชาการสำหรับเภสัชกรชุมชน ประจำปี 2563 - ประเด็นการเรียนรู้ : โรคที่พบบ่อยในร้านขายยา
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-035-08-2563
สถานที่จัดการประชุม โรงแรม S Ratchada Leisure Hotel กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 18 ส.ค. 2563
ผู้จัดการประชุม กลุ่มเภสัชกร ดีเคเอสเอช
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรร้านยาและเภสัชกรที่สนใจ จำนวน 100 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
โรคความดันโลหิตสูงถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญที่และพบได้บ่อยในประชาชนไทย และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนหลายประการ เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด และไตวาย ทั้งยังอาจเกิดร่วมกับภาวะโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ไต ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ประชากรจำนวนมากไม่ได้รับการวินิจฉัย ส่วนผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นความดันโลหิตสูงแล้วก็อาจไม่ได้รับการรักษาหรืออาจไม่ได้ติดตามรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ซึ่งทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากขึ้นอันนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในท้ายที่สุด
ความเครียดและความวิตกกังวลนั้น เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบได้บ่อยในร้านยา ซึ่งแม้ว่าจะพบได้บ่อยและถือได้ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพต่าง ๆ แต่ความเครียดและความวิตกกังวลนั้น มักจะถูกมองข้ามและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที เนื่องจากผู้ป่วยเองมักจะมองหายาหรือต้องการรับการรักษาเฉพาะอาการผิดปกติทางกายที่เกิดขึ้นเท่านั้น จึงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยไม่หายขาดจากอาการดังกล่าว หรือทำให้อาการวิตกกังวลมีความรุนแรงขึ้นและกลายเป็นโรคเรื้อรังในที่สุด ความผิดปกติหรืออาการทางกายที่มีสาเหตุมาจากความวิตกกังวล เช่น ตื่นเต้น หวาดกลัว ตัวสั่น เหงื่อออก หายใจไม่อิ่ม ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ รวมไปถึงอาการนอนไม่หลับ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากความวิตกกังวล และเกิดขึ้นจากภาวะอื่น ๆ เช่น อายุที่เพิ่มมากขึ้น โรคและยาบางอย่าง พฤติกรรมและสุขบัญญัติการนอนที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
สิวจัดเป็นโรคผิวหนัง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์เป็นอันดับต้นๆ แต่มีผู้ป่วยถึง 90% เลือกรักษาด้วยตนเอง โดยการปรึกษาเภสัชกรที่ร้านยา ดังนั้นการเลือกจ่ายยาอย่างถูกประเภทโดยเภสัชกร การแนะนำการใช้ยาและการปฏิบัติตัว รวมถึงการรักษาในแนวทางเดียวกับการรักษาของแพทย์ผิวหนัง จึงมีส่วนอย่างมากที่จะทำให้ผู้ป่วยหายจากโรค และป้องกันการเกิดกลับซ้ำ
รังแคเป็นอาการของโรคที่เกิดขึ้นบริเวณหนังศีรษะ โดยตามระบาดวิทยาของการเกิดรังแคพบว่ากว่า 50% ของคนทั่วโลกเป็นรังแค ซึ่งสาเหตุหลักของรังแคนั้นมีสมมติฐานว่าเกิดจากการที่เชื้อรา Malassezia ที่เจริญเติบโตมากกว่าปกติ (Hyperproliferative) ประมาณ 1.5 – 2.0 เท่าของคนทั่วไป ถึงแม้ว่ารังแคจะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก โดยอาการหลักจะประกอบไปด้วย อาการคันและมีสะเก็ดของหนังศีรษะที่มากกว่าปกติ ส่งผลทำให้เกิดความรำคาญ และส่งผลต่อบุคลิกภาพ ทั้งนี้การรักษารังแคโดยทั่วไปประมาณ 90% จะอยู่ในร้านขายยา ดังนั้นเภสัชกรจึงมีส่วนช่วยในการรักษาโรครังแคเป็นอย่างมาก โดยเป้าหมายหลักของการรักษารังแค คือ การรักษาให้หายจากการเป็นรังแค และการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
ดังนั้นร้านขายยาและเภสัชกรซึ่งถือเป็นปราการด่านแรกในการคัดกรองผู้ป่วยจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการให้คำปรึกษาและดูแลผู้ป่วย โดยการค้นหาสาเหตุและให้การรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัยแก่ผู้ป่วยต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เภสัชกรตระหนักถึงความสำคัญของการวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้านโดยผู้ป่วย
2. เพื่อให้เภสัชกรสามารถให้คำแนะนำถึงวิธีการที่ถูกต้องในการวัดความดันแก่ผู้ป่วย อันจะทำให้ได้ผลการวัดที่เที่ยงตรงถูกต้องซึ่งแพทย์สามารถนำไปใช้ในการวางแผนการรักษาหรือควบคุมระดับความดันให้ผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมต่อไป
3. เพื่อให้เภสัชกรมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรค, สาเหตุและอาการของโรควิตกกังวลและนอนไม่หลับ
4. เพื่อให้เภสัชกรเข้าใจหลักการรักษาโรควิตกกังวลและนอนไม่หลับ และการเลือกใช้ยารักษาอาการที่เหมาะสมในร้านยา
5. เพื่อให้เภสัชกรมีความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการเกิดโรคสิว ชนิดของสิวประเภทต่างๆ รวมถึงแนวทางการให้คำแนะนำ รักษา และเลือกใช้ยาได้เหมาะสมกับปัญหาสิวแต่ละประเภทได้ดียิ่งขึ้นในร้านยา
6. เพื่อให้เภสัชกรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวินิจฉัยอาการของรังแค สามารถให้คำแนะนำ และรักษารังแคในร้านขายยาได้อย่างเหมาะสม
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ติดต่อสอบถาม ได้ที่ ภญ.ศิวกานด์ ผลเกิด โทร 02-301-5467, 090-931-1878, e-mail: siwakarn.p@dksh.com ค่าลงทะเบียน 800 บาท และต้องลงทะเบียนภายในวันที่ 11 สิงหาคม 2563