การประชุมวิชาการ
โครงการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการเพื่อปรับปรุงแนวทางการใช้ยากำพร้า: การประชุมออนไลน์ทั่วประเทศผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ชื่อการประชุม โครงการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการเพื่อปรับปรุงแนวทางการใช้ยากำพร้า: การประชุมออนไลน์ทั่วประเทศผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-2-000-026-08-2563
สถานที่จัดการประชุม ผ่านระบบออนไลน์
วันที่จัดการประชุม 05 -21 ส.ค. 2563
ผู้จัดการประชุม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
กลุ่มเป้าหมาย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ แพทย์ เภสัชกร พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลยากำพร้า จำนวน ๓0๐-๔๐๐ คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 18 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อแก้ไขปัญหายากำพร้าทั้งระบบตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ในการดำเนินการเป็นการทำงานแบบบูรณาการระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น
• สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ดำเนินการด้านการผลิตยา
• องค์การเภสัชกรรม ดำเนินการด้านการจัดหายาและกระจายยาไปยังหน่วยบริการตามระบบการบริหารจัดการยาและสำรองยาที่ออกแบบภายใต้โครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยา
ต้านพิษของ สปสช.
• สมาคมพิษวิทยาคลินิกและศูนย์พิษวิทยา ดำเนินการด้านการให้ความรู้และจัดอบรมเรื่องการใช้ยาต้านพิษ การดูแลรักษาผู้ที่ได้รับพิษ
• ศูนย์พิษวิทยาและคลินิกรักษาพิษจากสัตว์ สถานเสาวภา ดำเนินการด้านการให้คำปรึกษา การวินิจฉัย การรักษาผู้ได้รับพิษ
• ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ติดตามประเมินผลการใช้ยา
โดย สปสช. ร่วมประสานการทำงาน สนับสนุนงบประมาณ และดูแลโปรแกรมยาต้านพิษซึ่งเป็น web-based application เชื่อมโยง stock ยาในแหล่งสำรองยาทั่วประเทศเข้ากับฐานข้อมูล GIS แบบ real-time
การดำเนินงานในช่วงต้นของโครงการฯระหว่างปีงบประมาณ ๒๕๕๔-๒๕๕๘ จะเน้นในการให้ความรู้กับบุคลากรทางการแพทย์ในหน่วยบริการทั่วประเทศทั้ง ๔ ภูมิภาค มีผู้เข้าร่วมประชุมเฉลี่ยปีละ ๑,๑๘๘ คน (ค่าพิสัย ๘๕๕-๑,๔๗๗ คน) จากหน่วยบริการประมาณ ๕๔๔ แห่ง (ค่าพิสัย ๔๙๑-๕๙๕ แห่ง) หลังจากนั้นโครงการต่างๆจะเน้นการแก้ปัญหาการไม่มีระบบรองรับการดูแลผู้ป่วยได้รับพิษในภาวะฉุกเฉินที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาไม่ทันการณ์และไม่เหมาะสม โดยได้มีการสร้างเครือข่ายยาต้านพิษของจังหวัดตามบริบทของพื้นที่ ทำให้มีเครือข่ายยาต้านพิษที่จัดตั้งไปแล้ว ๘ แห่งคือ ภาคเหนือ ๒ แห่ง:จังหวัดเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน-ลำพูนและจังหวัดน่าน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑ แห่ง: จังหวัดอุดรธานี, ภาคตะวันตก ๑ แห่ง: จังหวัดตาก, ภาคใต้ ๒ แห่ง: จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา, ภาคตะวันออก ๑ แห่ง: จังหวัดระยอง และภาคกลาง ๑ แห่ง: จังหวัดสระบุรี ลพบุรีและพระนครศรีอยุธยา ผลการดำเนินการข้างต้นทำให้การบริหารจัดการยา การใช้ยาและการกระจายยามีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันมีรายการยากำพร้าและยาต้านพิษครอบคลุมกับผู้ป่วยทุกสิทธิ์การรักษาพยาบาลจำนวน ๑๖ รายการ มีผู้ได้รับพิษสามารถเข้าถึงยาต้านพิษเฉลี่ยประมาณปีละ ๖,๐๐๐ คน (ตั้งแต่๕,๕๐๕-๗,๑๔๑ คนต่อปี: ข้อมูลปีพ.ศ. ๒๕๕๗-๒๕๖๑ ที่มา: รายงานการสร้างระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๑) และสามารถประหยัดงบประมาณของประเทศในการจัดซื้อยาโดยเฉพาะเซรุ่มต้านพิษงูลดลงได้ร้อยละ ๔๙ เทียบกับงบประมาณที่ใช้จากก่อนมีโครงการฯนี้ (ที่มา: เอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง โครงการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษและการพัฒนาเครือข่ายรองรับการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยแพทย์หญิงธัญจิรา จิรนันทกาญจน์ วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ที่ห้องประชุมจิตตะยโศธร โรงพยาบาลอุดรธานี)
อย่างไรก็ตาม จากการร่วมทำงานอย่างต่อเนื่องของศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่า ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษาหรือผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ยังขาดความเข้าใจในการใช้ยาต้านพิษและเซรุ่มต้านพิษงู ไม่ทราบเกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการยาต้านพิษและขาดความรู้ด้านการดูแลผู้ป่วยได้รับสารพิษ มีข้อมูลจากการประเมินก่อนเข้าร่วมประชุมในการจัดประชุมโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการเครือข่ายยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษและการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลปีงบประมาณ ๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๕-๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๐ ที่จังหวัดสงขลาพบว่าผู้เข้าร่วมประชุมร้อยละ๗๒.๒๒ ไม่เคยเข้าอบรมในโครงการที่เกี่ยวข้องกับยาต้านพิษที่เคยจัดมาก่อนเลย เช่นเดียวกับผลการประเมินในการจัดประชุมโครงการกำกับดูแล ปรับปรุงแนวทางการใช้ยากำพร้าและการประเมินผลการใช้ยากำพร้าปีงบประมาณ ๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๖-๗ สิงหาคม ๒๕๖๑ ที่จังหวัดนนทบุรี พบตัวเลขของผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่ทราบเกี่ยวกับโครงการยาต้านพิษสูงถึงร้อยละ ๘๘.๘๙ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการเว้นจากการอบรมความรู้ด้านนี้มาเป็นเวลามากกว่า ๔ ปี อีกทั้งผู้ที่เคยผ่านการอบรมเดิมมีการผลัดเปลี่ยนการทำงานในพื้นที่ เปลี่ยนหน้าที่รับผิดชอบ การย้ายงาน หรือไม่มีการส่งต่อข้อมูล เป็นต้น
ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบารามาธิบดี จึงจัดทำโครงการโครงการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการเพื่อปรับปรุงแนวทางการใช้ยากำพร้าขึ้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในบุคลากรและพัฒนาองค์ความรู้ด้านพิษวิทยา โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย ทำให้การอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ในโครงการฯ จึงปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เป็นการอบรมออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Web Conference หรือ Electronic Conference) โดยการถ่ายทอดความรู้ผ่านทางสื่อการสอนร่วมกับ การอภิปรายผลระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วมการประชุม โดยที่การเข้าอบรมมีทั้งแบบรายบุคคล และแบบรายกลุ่มโรงพยาบาล เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และ มีแนวทางในการพัฒนารูปแบบการอบรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย และสามารถเข้าถึงได้จากทุกพื้นที่ของประเทศไทย

วัตถุประสงค์
๑. เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากยา/สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับยาต้านพิษ และการใช้เซรุ่มต้านพิษงูในผู้ที่ถูกงูพิษกัด
๒. เพื่อทบทวนความรู้เก่าให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น และได้รับความรู้ใหม่ที่ทันสมัยทางด้านพิษวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาต้านพิษและเซรุ่มต้านพิษงู
๓. เพื่อพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการในการดูแลรักษาผู้ที่ได้รับพิษและถูกงูพิษกัดให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล
๔. เพื่อปรับปรุงแนวทางการให้บริการยาต้านพิษและเซรุ่มต้านพิษงูของหน่วยบริการให้ได้ประโยชน์ทั้งในด้านการประหยัดและประสิทธิภาพสูงสุด
๕. เพื่อสร้างความเข้าใจในระบบการบริหารจัดการยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ และเสริมสร้างบรรยากาศในการดำเนินงานอย่างบูรณาการในทุกภาคส่วน
๖. เพื่อให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืนของโครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ

คำสำคัญ
ยากำพร้า, ศูนย์พิษวิทยา, ประชุมวิชาการ, Ramathibodi Conference, การประชุมออนไลน์
วิธีสมัครการประชุม
การสมัครลงทะเบียน รอบที่ 1 วันที่ 5 - 7 สิงหาคม 2563 รอบที่ 2 วันที่ 19 - 21 สิงหาคม 2563 ไม่มีค่าใช้จ่ายในการสมัครลงทะเบียน