การประชุมวิชาการ
หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ให้ความรู้เบาหวาน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ชื่อการประชุม หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ให้ความรู้เบาหวาน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-2-000-020-04-2563
สถานที่จัดการประชุม ศูนย์เบาหวานศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
วันที่จัดการประชุม 30 เม.ย. 2563 - 03 ก.ค. 2563
ผู้จัดการประชุม ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช
กลุ่มเป้าหมาย แพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ นักก้าหนดอาหาร เภสัชกร นักสุขศึกษา
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 25.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การรักษาโรคเบาหวานให้มีประสิทธิภาพ นอกจากการใช้ยาลดระดับน้ำตาลแล้ว การให้ความรู้แก่ผู้เป็นเบาหวานโดยมุ่งหวังให้ผู้เป็นเบาหวานมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีขึ้นมีส่วนสำคัญมากในการรักษาโรคเบาหวาน โดยในต่างประเทศการให้ความรู้และสร้างทักษะให้กับผู้เป็นเบาหวานเป็นหน้าที่ของบุคลากรผู้ให้ความรู้เบาหวานโดยเฉพาะ (Diabetes Educator) แต่ในประเทศไทยยังไม่มีหลักสูตรผลิตผู้ให้ความรู้เบาหวานที่ชัดเจน หลักสูตรนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตผู้ให้ความรู้เบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก ประเทศไทยพบผู้เป็นเบาหวานจำนวนมากถึง 3.2 ล้านคนหรือคิดเป็น 6.4% ของประชากรไทย โดยโรคเบาหวานก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งในระยะเฉียบพลันและระยะเรื้อรัง ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากโรคเบาหวานเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญเสียสายตาของประชากรวัยทำงาน เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของภาวะไตวายเรื้อรังในประชากรไทย และเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการตัดเท้าหรือตัดขา ภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ยังก่อให้เกิดโรคหลอด
เลือดสมองตีบและหลอดเลือดหัวใจตีบ นอกจากนี้โรคเบาหวานยังเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของประชากร ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากในการดูแลรักษาโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้น การควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสามารถลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อหลอดเลือดแดงขนาดเล็ก หลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ และยังลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานทั้งในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 การรักษาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมนั้น นอกจากการใช้ยาลดระดับน้ำตาลแล้ว ความร่วมมือจากผู้เป็นเบาหวานในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย การรับประทานยาหรือฉีดยาอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาโรคเบาหวาน แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวานทั้งของไทยและต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า การให้ความรู้ในการจัดการตนเองด้านเบาหวาน (Diabetes Self-management Education, DSME) เป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้เป็นเบาหวาน โดยผู้เป็นเบาหวานทุกคนควรได้รับ DSME ตั้งแต่แรกวินิจฉัยและควรได้รับคำแนะนำและการสนับสนุนในการดูแลตนเองอย่างต่อเนื่อง (Diabetes Self-management Education and Support: DSMES) จากทีมบุคลากรทางการแพทย์ การศึกษาแบบ Meta-analysis ในต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าการได้รับ DSME ส่งผลให้ระดับน้ำตาลสะสมหลังเข้าร่วมกิจกรรมลดลงประมาณ 0.76% แม้ว่าระดับน้ำตาลสะสมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในภายหลัง จากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับความคุ้มค่าของการให้ DSME ในช่วงเวลา 15 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2534-2549 พบว่า ร้อยละ 70 ของการศึกษาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการให้ DSME สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเบาหวานได้ จะเห็นได้ว่า การให้ความรู้ในการจัดการตนเองด้านเบาหวานมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลและมีความคุ้มค่าในด้านเศรษฐกิจ
เนื่องจากการให้ความรู้ การสร้างทักษะแก่ผู้เป็นเบาหวานจนสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานขั้นสูง (Advance) มีทักษะในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทักษะการเป็นพี่เลี้ยง (Coaching) และเป็นกระบวนการที่ใช้เวลามาก ในต่างประเทศการให้ DSMES จึงเป็นหน้าที่ของบุคลากรผู้ให้ความรู้เบาหวาน (Diabetes Educator) โดยเฉพาะในต่างประเทศจะมีหลักสูตรอบรมผู้ให้ความรู้เบาหวานที่ได้มาตรฐาน และมีการจัดสอบโดยสถาบันกลางของประเทศ ซึ่งแตกต่างจากบริบทของประเทศไทยที่ผ่านมา ที่มีการจัดอบรมผู้ให้ความรู้เบาหวานเป็นการอบรมระยะสั้นซึ่งไม่เพียงพอในการสร้างทักษะด้านต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น
ดังนั้นศูนย์เบาหวานศิริราชเห็นถึงความจำเป็นในการผลิตบุคลากรผู้ให้ความรู้เบาหวานที่มีความรู้และทักษะขั้นสูงเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ จึงได้ร่วมกับสาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ภาควิชาสูติศาสตร์ –
นรีเวชศาสตร์ และฝ่ายการพยาบาล ได้ประสานกับ Prof. Anne Belton (RN, CDE, Med Ed, PhD)
The Michener institute of Education at UHN, Canada ในการร่วมจัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ให้ความรู้เบาหวาน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (Certified Diabetes Educator Program Faculty of Medicine Siriraj Hospital) ขึ้นรวมทั้ง ส่งเสริมให้อาจารย์แพทย์และทีมสหสาขาเข้าศึกษาอบรมหลักสูตร Diabetes Educator Graduate Certificate Program, The Michener Institute, IDF School for Diabetes Educator โดยศูนย์เบาหวานศิริราชได้รับการรับรองเป็น International Diabetes Federation School for Diabetes Education ในปี 2560
ทั้งนี้ มีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรฯ ในปี 2560 จำนวน 22 คน โดยหมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่ในการให้ความรู้แก่ผู้เป็นเบาหวานที่ศูนย์เบาหวานศิริราชและหน่วยงานต้นสังกัด และนักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาหลักสูตรฯ ในปี 2561 จำนวน 21 คน และพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ให้ความรู้เบาหวานชำนาญการ (SiCDE Expert) โดยการปฏิบัติ DSMES และมีชั่วโมงการศึกษาต่อเนื่องด้านเบาหวานตามที่หลักสูตรกำหนด
วัตถุประสงค์
1. มีความรู้และความชำนาญขั้นสูงในการถ่ายทอดความรู้เบาหวานและสามารถสร้างทักษะในการจัดการตนเองให้กับผู้เป็นเบาหวานและครอบครัว
2. สามารถนำทฤษฎีในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทฤษฎีด้านการเรียนการสอนมาใช้เพื่อให้ผู้เป็นเบาหวานมีทัศนคติที่ดีจนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น
3. ความรู้ด้านการวิจัยเบื้องต้นสามารถสืบค้นความรู้อย่างต่อเนื่องจากงานวิจัยต่างๆเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับผู้เป็นเบาหวานในการจัดการตนเอง
4. มีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณที่ดีแห่งวิชาชีพในการปฏิบัติงาน
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน -บุคลากรภายนอกจากหน่วยงานรัฐ อัตราค่าลงทะเบียน 28,000 บาท -บุคลากรภายนอกที่ไม่ได้มาจากหน่วยงานรัฐ อัตราค่าลงทะเบียน 33,000 บาท