การประชุมวิชาการ
โครงการพัฒนารูปแบบการประเมินผลการฝึกปฏิบัติงานบริบาลทางเภสัชกรรม
ชื่อการประชุม โครงการพัฒนารูปแบบการประเมินผลการฝึกปฏิบัติงานบริบาลทางเภสัชกรรม
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสกิจกรรม 1003-2-000-019-03-2563
สถานที่จัดการประชุม ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันที่จัดการประชุม 13 มี.ค. 2563
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กลุ่มเป้าหมาย อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยพายัพ และอาจารย์เภสัชกรประจำแหล่งฝึกปฏิบัติงาน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3.75 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
คณะอนุกรรมการการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพสาขาโรงพยาบาลประกอบด้วยตัวแทนคณาจารย์จาก ๑๙ มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันปรับปรุงคู่มือการฝึกปฏิบัติงานบริบาลทางเภสัชกรรม เพื่อให้กิจกรรมการฝึกปฏิบัติงานบริบาลทางเภสัชกรรมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงวิธีการประเมินความประพฤติ ทัศนคติและทักษะการฝึกปฏิบัติงานบริบาลทางเภสัชกรรมให้สอดคล้องกับระดับผลการเรียนที่นิสิต/นักศึกษาจะได้รับมากขึ้น นอกจากการพัฒนาคู่มือการฝึกปฏิบัติงานบริบาลทางเภสัชกรรมสำหรับนิสิต/นักศึกษาแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ยังร่วมมือกันในการพัฒนาอาจารย์ประจำแหล่งฝึกให้มีทักษะการสอนทางคลินิกเพิ่มขึ้นด้วย
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นไป จะเริ่มมีนิสิต/นักศึกษาหลักสูตรบริบาลทางเภสัชกรรมจากทุกมหาวิทยาลัยออกฝึกงานพร้อมกันทั่วประเทศ จึงมีจำนวนผู้ใช้คู่มือการฝึกปฏิบัติงานบริบาลทางเภสัชกรรมเพิ่มมากขึ้น ทั้งอาจารย์ประจำแหล่งฝึกและนิสิต/นักศึกษา ในปีการศึกษา ๒๕๖๓ จะมีการเริ่มใช้แบบประเมินทักษะการสื่อสารในงานบริบาลทางเภสัชกรรมกับบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับอาจารย์ประจำแหล่งฝึก ในรูปแบบ Mini-CEx (Mini clinical evaluation) เป็นการประเมินแบบ workplace-based assessment ที่มุ่งประเมินทักษะทางคลินิก (clinical skill) ของนิสิต/นักศึกษา ในสถานการณ์จริง (บุคลากรสาธารณสุขจริง) โดยมีอาจารย์แหล่งฝึกเป็นผู้ประเมิน นิสิต/นักศึกษาใน 2 ประเด็น คือ ทักษะการสื่อสารกับบุคลากรสาธารณสุข (psychomotor domain) และความเป็นวิชาชีพ (professional domain) โดยมุ่งเน้นทักษะในการเผชิญหน้า (encounter) กับบุคลากรสาธารณสุข กระบวนการตัดสินใจ และการปฏิบัติตามเกณฑ์การสื่อสาร เพื่อให้ได้ผลการสื่อสารที่ดี โดยอาจประเมินหลายครั้ง และประเมินเป็น formative การเตรียมตัวประเมิน มีขั้นตอนดังนี้
1. อาจารย์แหล่งฝึกเตรียมคุยกับบุคลากรสาธารณสุขไว้ล่วงหน้า โดยขออนุญาตบุคลากรสาธารณสุขว่าจะมีนิสิต/นักศึกษามาฝึกปฏิบัติ
2. อาจารย์แหล่งฝึกแนะนำขั้นตอน เกณฑ์การประเมินแก่นิสิต/นักศึกษาที่เข้ารับการประเมิน และให้นิสิต/นักศึกษาเลือกว่าจะสื่อสารกับบุคลากรสาธารณสุขในประเด็นใด
3. อาจารย์แหล่งฝึกให้นิสิต/นักศึกษาปฏิบัติ โดยทำหน้าที่เฝ้าดู และให้การช่วยเหลือเฉพาะเมื่อจำเป็น อาจารย์ไม่ควรช่วยนิสิต/นักศึกษาในการสื่อสาร การสื่อสารจะใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที
4. หลังเสร็จสิ้นการสื่อสาร อาจารย์แหล่งฝึกให้นิสิต/นักศึกษาสะท้อนกลับ (reflection) และอาจารย์แหล่งฝึกให้การป้อนกลับ (feedback) ผลการประเมินให้นิสิต/นักศึกษาทราบ ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที ดังนี้
4.1 Reflection: ให้อาจารย์แหล่งฝึกถาม 3 คำถามเพื่อให้นิสิต/นักศึกษาสะท้อนกลับ ดังนี้ 1) เมื่อสักครู่นี้ได้ทำอะไรบ้าง รู้สึกอย่างไร 2) ได้เรียนรู้อะไรบ้าง 3) จะนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้อย่างไร เน้นให้นิสิต/นักศึกษาพรรณา และอาจารย์แหล่งฝึกคอยปรับแก้ไขหากมีความเข้าใจผิด
4.2 Feedback: โดยแจ้งสิ่งที่นิสิต/นักศึกษาปฎิบัติทั้งข้อดีและข้อควรปรับปรุงสลับกัน (feedback sandwich) ในส่วนที่ระบุข้อที่ควรปรับปรุงควรมีลักษณะดังนี้ เป็นความจริง ไม่มีการเพิ่มเติมความเห็น บอกวิธีการแก้ไขที่ชัดเจน
การจัดประชุมครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยพายัพ และมหาวิทยาลัยพะเยา จัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจกับเภสัชกรพี่เลี้ยงแหล่งฝึกในการใช้แบบประเมินดังกล่าว และหวังว่าจะได้รับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกิจกรรมการฝึกปฏิบัติงาน และวิธีการประเมินจากผู้ใช้เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงคู่มือให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป
วัตถุประสงค์
แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับอาจารย์เภสัชกรประจำแหล่งฝึกปฏิบัติงานเกี่ยวกับรูปแบบ และวิธีการประเมินผลนักศึกษาฝึกปฏิบัติงาน
อาจารย์เภสัชกรประจำแหล่งฝึกมีทักษะในการประเมินผลให้เหมาะสมกับกิจกรรมการฝึกปฏิบัติงาน
คำสำคัญ
workplace-based assessment