การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมวิชาการ 1st CU- KU Symposium และ 4th CU-NIPS Symposium “ความก้าวหน้าด้านการวิจัยประสาทวิทยาศาสตร์” [1st CU- KU Symposium and 4th CU-NIPS Symposium: “Advances in Neuroscience Research”]
ชื่อการประชุม โครงการประชุมวิชาการ 1st CU- KU Symposium และ 4th CU-NIPS Symposium “ความก้าวหน้าด้านการวิจัยประสาทวิทยาศาสตร์” [1st CU- KU Symposium and 4th CU-NIPS Symposium: “Advances in Neuroscience Research”]
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-014-02-2563
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมปทุมวันปริ้นเซส กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 17 ก.พ. 2563
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 6.75 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) เป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญ และมีการศึกษาวิจัยกันอย่างกว้างขวางโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศอย่างมากในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ทราบถึงกลไกต่างๆ ของระบบประสาท ตั้งแต่ระดับยีน เซลล์ประสาท ไปจนถึงการทำงานของทั้งระบบประสาทในการควบคุมการทำหน้าที่ต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ในส่วนของโรคของระบบประสาท ซึ่งจัดเป็นกลุ่มของโรคซึ่งเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพมากขึ้นตามลำดับในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า โรคลมชัก โรคจิตเภท โรคการเสพติดสารเสพติดต่างๆ โรคหลอดเลือดสมอง และ การบาดเจ็บของสมองและไขสันหลังจากอุบัติเหตุ เป็นต้น และการที่อายุเฉลี่ยของประชากรของประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาท (Neurodegenerative diseases) ทวีความสำคัญขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาคินสัน และโรคสมองเสื่อมชนิดอื่นๆ ซึ่งโรคของระบบประสาทเหล่านี้ ยังขาดแคลนความรู้ทางวิชาการ ทั้งในด้านสาเหตุความผิดปกติของระบบประสาทที่เป็นที่มาของโรค ไปจนถึงการรักษาต่างๆ โดยเฉพาะยาที่ใช้ในการรักษาซึ่งถือเป็นวิธีการรักษาหลักส่วนใหญ่ของโรคเหล่านี้ ดังนั้นจึงมีการศึกษาวิจัยกันอย่างกว้างขวางในระดับสากลเพื่อหาหนทางการรักษา และค้นคว้าพัฒนายาใหม่ขึ้นมารักษาโรคเหล่านี้ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยใหม่ๆ ทางคอมพิวเตอร์ อิเลคทรอนิกส์และวิศวกรรม เข้ามาประยุกต์และผสมผสานกับความรู้ทางประสาทวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดพัฒนาการของเทคโนโลยีหลายอย่างที่เกี่ยวข้องขึ้น การสร้างเครื่องมือและสร้างระบบควบคุมการทำงานของเครื่องมือกล การทำเครื่องเชื่อมต่อระหว่างสมองและเครื่องกล (Brain-machine interface) การพัฒนาระบบหุ่นยนต์ ตลอดจนปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) ที่สมบูรณ์ในอนาคต จะเห็นได้ว่าแม้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประสาทในปัจจุบันจะมีอย่างมากมาย แต่ก็ยังเป็นเพียงความรู้ที่น้อยเกินกว่าจะทำความเข้าใจกับการทำหน้าที่ปกติ หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นของระบบประสาทอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการทำการศึกษาวิจัยระบบประสาทอย่างเข้มข้นต่อเนื่องต่อไป

ภาควิชาประสาทวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการศึกษาวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่มี Impact factor สูงเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเกียวโตยังติดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก อันดับที่ 33 จากการจัดโดย QS World University Rankings ในปี ค.ศ. 2520 และ อันดับที่ 65 จากการจัดโดย Times Higher Education World University Rankings ในปี ค.ศ. 2520 ซึ่งภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ได้ริเริ่มมีการทำวิจัยร่วมกันมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2560 และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและวิจัย (MOU) กับมหาวิทยาลัยเกียวโต

สถาบันสรีรวิทยาแห่งชาติ (The National Institute for Physiological Sciences; NIPS) เมือง Okazaki ประเทศญี่ปุ่น เป็นสถาบันวิจัยทางสรีรวิทยาของประเทศญี่ปุ่น ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติทางด้านสรีรวิทยา โดยเฉพาะประสาทสรีรวิทยา โดยมีนักสรีรวิทยาที่มีชื่อเสียงอยู่เป็นจำนวนมาก ผลิตผลงานวิจัยทางสรีรวิทยาตั้งแต่ระดับโมเลกุล เซลล์ อวัยวะ ระบบ ไปถึงทั้งร่างกาย เพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการทำหน้าที่ของระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสหสาขาวิชาสรีรวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มีความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยกับ NIPS อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยมีโครงการวิจัยร่วมกันหลายโครงการที่เกี่ยวกับ การศึกษากลไกวงจรประสาทและประสาทเภสัชวิทยาของวงจรประสาทที่เกี่ยวกับการมองเห็นและควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตา ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวกับกลไกการออกฤทธิ์ของสารสังเคราะห์และสารสกัดจากสมุนไพรที่มีต่อระบบประสาท รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนนักวิจัยและนิสิตบัณฑิตศึกษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ NIPS ยังบริจาคเครื่องมือวิจัย อุปกรณ์และวัสดุวิจัยต่างๆ ให้กับภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ ตลอดจนสนับสนุนการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติและการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติหลายครั้ง จนทำให้เกิดข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและวิจัย (MOU) เมื่อปี พ.ศ. 2554 และได้จัดการประชุมร่วม 1st CU-NIPS Symposium ขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2556 และ 2nd CU-NIPS Symposium ในปี 2557 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและวิจัย (MOU) ในปี พ.ศ. 2559 และได้จัดการประชุมร่วม 3rd CU-NIPS Symposium ในปี 2560 ซึ่งทำให้ความร่วมมือระหว่างคณะเภสัชศาสตร์และ NIPS เป็นไปอย่างเข้มแข็ง ทำให้สามารถผลิตผลงานวิจัยและบทความวิจัยตีพิมพ์ในวาสารระดับนานาชาติที่มี Impact Factor สูงร่วมกันเป็นจำนวนมาก และขยายวงกว้างขึ้น ก่อให้เกิดการพัฒนางานด้านวิชาการ วิจัยและบัณฑิตศึกษาทางเภสัชวิทยา สรีรวิทยา และเภสัชศาสตร์ชีวภาพมากยิ่งขึ้น

ในการนี้เพื่อให้ความร่วมมือดังกล่าวขยายวงกว้างขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีผู้เชี่ยวชาญและศึกษาวิจัยทางด้านประสาทวิทยาศาสตร์อยู่ถึง 5 คณะวิชา ดังนั้นคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาประสาทวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโต และ National Institute for Physiological Sciences ประเทศญี่ปุ่น จึงได้ตกลงที่จะจัดการประชุมวิชาการร่วม 1st CU-KU Symposium และ 4th CU-NIPS Symposium “ความก้าวหน้าด้านการวิจัยประสาทวิทยาศาสตร์” ระหว่างวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยมีภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยาเป็นผู้ดำเนินการหลักในการจัดประชุมวิชาการ ร่วมกับ หลักสูตรสหสาขาวิชาสรีรวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย โดยมีผู้เข้าร่วมที่เป็นคณาจารย์ นักวิจัยและนิสิตบัณฑิตศึกษา จาก คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ ตลอดจนคณะวิชาอื่นๆ ทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่เกี่ยวข้อง และมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศไทย ร่วมกับนักประสาทวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติจาก มหาวิทยาลัยเกียวโต และ National Institute for Physiological Sciences ประเทศญี่ปุ่น
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้คณาจารย์ นักวิจัย นิสิตบัณฑิตศึกษา ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในความรู้ใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ผลงานวิจัยที่มีความก้าวหน้าทันสมัย กับนักประสาทวิทยาศาสตร์ระดับโลก ทั้งจากประเทศญี่ปุ่นและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. เพื่อขยายความสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายนักวิจัยทางด้านสรีรวิทยาและเภสัชวิทยา ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ มหาวิทยาลัยเกียวโต และ สถาบันสรีรวิทยาแห่งชาติประเทศญี่ปุ่น
3. เพื่อขยายความร่วมมือด้านการวิจัยและการเรียนการสอน ระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับมหาวิทยาลัยเกียวโต และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ สถาบันสรีรวิทยาแห่งชาติประเทศญี่ปุ่น
4. เพื่อเผยแพร่ผลงานและประชาสัมพันธ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสู่สากล
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ผู้สนใจสมัครลงทะเบียนเข้าร่วมงานประชุมวิชาการฯ ได้ทางเว็บไซต์ของการศึกษาต่อเนื่อง http://pharmce.weebly.com/ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน