การประชุมวิชาการ
โครงการจัดการหลักสูตร Non Degree ภายใต้เรื่อง การฝึกอบรมระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรมด้านโรคหลอดเลือดสมอง ประจำปี พ.ศ.2563 (รอบที่ 4)
ชื่อการประชุม โครงการจัดการหลักสูตร Non Degree ภายใต้เรื่อง การฝึกอบรมระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรมด้านโรคหลอดเลือดสมอง ประจำปี พ.ศ.2563 (รอบที่ 4)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
รหัสกิจกรรม 1010-2-000-008-04-2563
สถานที่จัดการประชุม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี
วันที่จัดการประชุม 01 เม.ย. 2563 - 31 ก.ค. 2563
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกร ,บุคลากรทางการแพทย์
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 48 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ องค์การอนามัยโลกรายงานการเกิดโรคหลอด เลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของโลก มีจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั่วโลก 17 ล้านคนและเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองจำนวน 6.5 ล้านคน สำหรับประเทศไทยพบโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยพบเป็นอันดับที่ 1 ในเพศหญิง และอันดับที่ 2 ในเพศชาย จากรายงานของสำนักนโยบายและ ยุทธศาสตร์สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองต่อประชากรแสนคนในภาพรวม ปี พ.ศ. 2557 – 2559 เท่ากับ 38.63, 43.28 และ 43.54 ตามลำดับ จะเห็นได้ว่า อัตราตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี และยังพบว่าโรคหลอดเลือดสมองมีอัตราตายมากกว่าโรคเบาหวานและ โรคหัวใจขาดเลือดเป็น 1.5 – 2 เท่าตัว จากสถานการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นภาวะคุกคามทางสุขภาพและเศรษฐกิจ เนื่องจากเมื่อเกิดโรค มักส่งผลให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร สามารถเกิดได้กับประชากรทุกวัย สำหรับผู้ที่รอดชีวิตจะได้รับผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม สำหรับผู้ป่วยที่รอดจากการเสียชีวิตมักจะเกิดความพิการภายหลังจากเป็นโรค ก่อให้เกิดภาระให้กับคนในครอบครัว ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
จากสาเหตุดังกล่าวทางกระทรวงสาธารณสุขจึงเป็นหน่วยงานขับเคลื่อน โดยการทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (service plan) กำหนดให้โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคหนึ่งในหมวดสาขาไม่ติดต่อที่อยู่ในระบบบริการสุขภาพ มุ่งเน้นเน้นการพัฒนาระบบการรักษา และกำหนดให้โรงพยาบาลศูนย์ (A) และโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่/โรงพยาบาลทั่วไป (S) จะต้องจัดตั้งเป็นหน่วยบริการโรคหลอดเลือดสมอง (stroke unit) ในส่วนโรงพยาบาลขนาดทั่วไปขนาดเล็ก (M1) และโรงพยาบาลชุมชนขนาด 120 เตียงขึ้นไป (M2) เป็นหน่วยบริการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองภายหลังการรักษา (post rehabilitation unit) นอกจากนี้ในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพยังกำหนด การบริหารหออภิบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จำเป็นที่จะต้องประกอบด้วย แพทย์ พยาบาลวิชาชีพ นักกายภาพบำบัด และเภสัชกร สำหรับประจำหอผู้ป่วย ดังนั้นเภสัชกรจึงเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีบทบาทในทีมสหวิชาชีพ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเป็นกลุ่มโรคที่ต้องมีการใช้ยาหลายกลุ่ม และมักมีโรคร่วมอื่น ๆ หลายโรค เช่น เบาวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งมีโอกาสพบอาการไม่พึงประสงค์ การเกิดปฏิกิริยาต่อกันของยาได้มาก นอกจากนี้ผู้ป่วยกลุ่มโรคนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาด้วยยาเป็นระยะเวลานาน จึงควรมีการดูแลอย่างต่อเนื่องทั้งการดูแลแบบผู้ป่วยนอกและการลงเยี่ยมบ้าน เพื่อติดตามการรักษาทั้งในประสิทธิภาพ อาการข้างเคียงและความร่วมมือในระยะยาว
จากปัญหาในปัจจุบันยังขาดแคลนเภสัชกรที่ทำงานด้านโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งในระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป รวมถึงโรงพยาบาลชุมชน ประกอบกับเภสัชกรทั่วไปที่ทำงานยังไม่มีความรู้ความสามารถที่เพียงพอในการให้การบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่ อยู่ภายใต้การดูแลของพยาบาลที่ผ่านการอบรมเฉพาะทางด้านโรคหลอดเลือดสมองเป็นหลัก ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมจากเภสัชกรอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นที่จะพัฒนาศักยภาพและทักษะสำหรับเภสัชกรในการบริบาล ทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในโรคและยาที่ใช้ทางโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น และสามารถทำงานร่วมกับที่ สหสาขาวิชาชีพที่ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์เฉพาะทางระบบประสาท แพทย์ทั่วไป พยาบาลเฉพาะทาง หรือเภสัชกร ในการส่งต่อข้อมูล การดูแลผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเฉพาะทางสู่โรงพยาบาลชุมชน หรือการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป จึงมีการพัฒนาหลักสูตรการบริบาลทางเภสัชกรรมระยะสั้น ด้านหลอดเลือดสมองขึ้น
หลักสูตรการบริบาลเภสัชกรรมระยะสั้น ด้านหลอดเลือดสมองจัดทำขึ้นโดยความร่วมมือของ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และกลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การรับรองของวิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม เพื่อที่จะพัฒนาทักษะของเภสัชกรที่ปฏิบัติงานด้านโรคหลอดเลือดสมองในโรงพยาบาล โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชนและสถานพยาบาลอื่น ๆ ให้สามารถริเริ่มและพัฒนางานบริบาลทางเภสัชกรรม ตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ให้การดูแลด้านยาแก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยมีผลการรักษาด้วยยาที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
การเรียนการสอนในหลักสูตรประกอบด้วยการเรียนรู้ภาคทฤษฎีจากอาจารย์และเภสัชกร ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการบริบาลทางเภสัชกรรมและเภสัชบำบัดในโรคหลอดเลือดสมอง ในภาคปฏิบัติ มีการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานทั้งการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และผู้ป่วยในชุมชน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ อภิปรายกรณีศึกษาร่วมกับอาจารย์ เภสัชกรประจำแหล่งฝึก ทีมสหสาขาวิชาชีพต่าง ๆ รวมทั้งมีการถ่ายทอดความรู้ทางด้านยา สารสนเทศด้านยา การพัฒนางานวิจัยจากงานประจำ เพื่อที่จะให้เภสัชกรผู้ผ่านการอบรมมีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ความสามารถ ในการริเริ่ม พัฒนางานบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านโรคหลอดเลือดสมองภายในองค์กร เผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนทั่วไปเพื่อให้มีการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข
วัตถุประสงค์
1. ให้เภสัชกรได้ฝึกปฏิบัติงานการบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งในหอผู้ป่วยหนักโรคหลอดเลือดสมอง แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และการลงเยี่ยมบ้านกับทีมสหวิชาชีพ
2. ให้เภสัชกรมีความรู้ความเข้าใจยาที่ใช้รักษาในโรคหลอดเลือดสมองและโรคร่วมที่พบได้บ่อย ได้แก่ กลไกการออกฤทธิ์ ขนาดยา อาการไม่พึงประสงค์ การติดตามระดับยาในเลือด
3. ให้เภสัชกรมีความรู้ความเข้าใจแนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดสมองและโรคร่วมที่พบได้บ่อย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
4. ให้เภสัชกรสามารถค้นหาปัญหาการใช้ยา วางแผนติดตาม ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาได้
5. ให้เภสัชกรสามารถมีแนวคิดในการทำวิจัยด้านการใช้ยาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและสามารถประเมินวรรณกรรมปฐมภูมิที่เกี่ยวข้องได้
คำสำคัญ
ฝึกอบรมระยะสั้น,โรคหลอดเลือดสมอง
วิธีสมัครการประชุม
โดยสามารถศึกษาข้อมูลและลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์http://www.phar.ubu.ac.th/page?mlv1=8&mlv2=6&mlv3=12 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นางสาวสมพร นันตะเสน โทร 045-353625