การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมวิชาการเพื่อส่งเสริมสมรรถนะวิชาชีพสำหรับเภสัชกร เรื่อง การบริบาลทางเภสัชกรรมชุมชมสำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
ชื่อการประชุม โครงการประชุมวิชาการเพื่อส่งเสริมสมรรถนะวิชาชีพสำหรับเภสัชกร เรื่อง การบริบาลทางเภสัชกรรมชุมชมสำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-049-11-2562
สถานที่จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่จัดการประชุม 03 พ.ย. 2562
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกร และผู้สนใจ จำนวน 60 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 5.25 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
กลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นั้นเป็นชื่อเรียก กลุ่มโรคที่เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ภายในร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากวิธีการใช้ชีวิต ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอย่าง เหล้า บุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย อาหารหวานมันเค็มจัด และมีความเครียด สำหรับประเทศไทย พบว่ามีประชากรถึง 14 ล้านคนที่เป็นโรคในกลุ่มโรค NCDs และที่สำคัญยังถือเป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตของประชากรทั้งประเทศซึ่งมีแนวโน้มจะสูงขึ้น เรื่อย ๆ ในอนาคต โรคในกลุ่ม โรค NCDs ที่พบบ่อย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหืด โรคในระบบจิตประสาท และโรคมะเร็ง เป็นต้น ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจำเป็นต้องรับการรักษา ติดตามการใช้ยาและปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตที่จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อโรคจึงทำให้มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาลจำนวนมากจนเกิดความแออัดขึ้นในหลายขั้นตอน การรอรับยาถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียเวลาและเกิดความลำบาก ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดในการเพิ่มจุดรับยาขึ้นจึงมีการจัดทำโครงการ “ผู้ป่วยรับยาร้านยาคุณภาพ”เพื่อลดปัญหาความแออัดในในสถานพยาบาล เภสัชกรชุมชนหรือเภสัชกรผู้ทำหน้าที่ปฏิบัติการในร้านยาเป็นหนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ที่มีศักยภาพทั้งการจัดการเรื่องระบบยา การอธิบายการใช้ยารวมถึงการให้คำปรึกษาเรื่องการดูแลตนเองโดยไม่ใช้ยา มุ่งเน้นให้บริการแก่ผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ความซับซ้อนในการดูแลไม่มาก ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหืดและผู้ป่วยจิตเวช ดังนั้นเพื่อเพิ่มศักยภาพของเภสัชกรให้มีสมรรถนะในการให้การบริบาลทางเภสัชกรรมทั้งด้านความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหืดและผู้ป่วยจิตเวช ได้ครบถ้วน
ในการนี้คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดชุดโครงการนี้เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนให้เภสัชกรปฐมภูมิได้เพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการเพื่อยกระดับศักยภาพในการบริบาลทางเภสัชกรรมให้เป็นมาตรฐานและมีองค์ความรู้ที่ทันสมัยในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ปลอดภัยสูงสุด และสามารถรองรับระบบการจ่ายยาตามใบสั่งตามนโยบายลดความแออัดของผู้ป่วยในสถานพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์
เพื่อส่งเสริมให้เภสัชกรมีสมรรถนะและทักษะในการจัดการกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหืดและโรคจิตเวช และสามารถรองรับระบบการจ่ายยาตามใบสั่งตามนโยบายลดความแออัดของผู้ป่วยในสถานพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ผู้สนใจเข้าร่วมประชุมสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของหน่วยการศึกษาต่อเนื่อง ฝ่ายพัฒนาวิชาการและวิชาชีพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (www.pharm.chula.ac.th/ce) โดยมีอัตราค่าลงทะเบียนดังนี้ o ชำระค่าลงทะเบียนภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ท่านละ 600 บาท o ชำระค่าลงทะเบียนหลังวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ท่านละ 800 บาท